เมนู

8. ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา เวรี วา ปน เวรินํ
มิจฺฉาปณิหํติ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร
"จิตซึ่งตั้งไว้ผิดแล้ว พึงทำเขา (บุคคล) นั้น
ให้เลวทรามยิ่งกว่าความพินาศฉิบหาย ที่โจรเห็นโจร
หรือคนจองเวรเห็นคนจองเวรทำ (แก่กัน) นั้น
(เสียอีก)."


แก้อรรถ


บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า ทิโส ทิสํ แปลว่า โจรเห็นโจร.
ศัพท์ว่า ทิสฺวา เป็นพระบาลีที่เหลือ (บัณฑิตพึงเพิ่มเข้า).
สองบทว่า ยนฺตํ กยิรา ความว่า พึงทำซึ่งความพินาศฉิบหาย
นั้นใดแก่โจรหรือคนจองเวรนั้น. ถึงในบทที่ 2 ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเป็นคำอธิบายไว้ดังนี้ว่า "โจรผู้มักประทุษ-
ร้ายต่อมิตรผู้หนึ่ง เมื่อผิดในบุตร ภริยา นา ไร่ วัวและควายเป็นต้น
ของโจรผู้หนึ่ง โจรผิดต่อโจรใด, เห็นโจรแม้นั้นซึ่งผิดอยู่ในตนอย่างนั้นนั่น
แหละ, ก็หรือว่าคนจองเวรเห็นชนผู้ผูกเวรกันไว้ด้วยเหตุบางอย่างนั่นแหละ
ซึ่งชื่อว่า ผู้จองเวร, ชื่อว่าพึงทำความพินาศฉิบหายอันใดแก่โจรหรือคน
ผู้จองเวรนั้น คือพึงเบียดเบียนบุตรและภริยาของโจรหรือคนจองเวรนั้น
พึงทำสิ่งของต่าง ๆ มีนาเป็นต้นของโจร หรือของคนจองเวรนั้นให้ฉิบหาย
หรือพึงปลงซึ่งโจรหรือคนจองเวรนั้นจากชีวิต เพราะความที่ตนเป็นคน
โหดร้าย คือเพราะความที่ตนเป็นคนทารุณ, จิตชื่อว่าตั้งไว้ผิด เพราะ
ความเป็นจิตตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถ 10 พึงทำให้เขาเลวทรามยิ่งกว่า

ความพินาศฉิบหายนั้น คือทำบุรุษนั้นให้เป็นผู้ลามกกว่าเหตุนั้น; จริง
อยู่ โจรก็ดี คนจองเวรก็ดี มีประการดังกล่าวแล้ว พึงยังทุกข์ให้เกิด
หรือพึงทำซึ่งความสิ้นไปแห่งชีวิต แก่โจรหรือแก่คนจองเวร (ได้ ) ใน
อัตภาพนี้เท่านั้น, ส่วนจิตนี้ ซึ่งตั้งไว้ผิดในอกุศลกรรมบถทั้งหลาย ย่อมยัง
บุคคลให้ถึงความพินาศฉิบหายในทิฏฐธรรมบ้าง ซัดไปในอบาย 4 ย่อม
ไม่ให้ยกศีรษะขึ้นได้ในพันอัตภาพบ้าง."
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดา-
ปัตติผลเป็นต้น, เทศนามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.
ก็กรรมที่อุบาสกได้ทำไว้ในระหว่างภพ พวกภิกษุมิได้ทูลถาม,
เพราะฉะนั้น (กรรมนั้น) พระศาสดาจึงมิได้ตรัสบอก ดังนี้แล.
เรื่องนันทโคปาลกะ จบ.

9. เรื่องพระโสไรยเถระ [32]


ข้อความเบื้องต้น


พระศาสดายังพระธรรมเทศนานี้ว่า "น ตํ มาตา ปิตา กริยา"
เป็นต้น ซึ่งตั้งขึ้นในโสไรยนคร ให้จบลงในพระนครสาวัตถี.

เศรษฐีบุตรกลับเพศเป็นหญิงแล้วหลบหนี


เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี, ลูกชาย
ของโสไรยเศรษฐี ในโสไรยนคร นั่งบนยานน้อยอันมีความสุขกับสหาย
ผู้หนึ่งออกไปจากนคร เพื่อประโยชน์จะอาบน้ำด้วยบริวารเป็นอันมาก.
ขณะนั้น พระมหากัจจายนเถระ มีความประสงค์จะเข้าไปสู่โสไรยนคร
เพื่อบิณฑบาต ห่มผ้าสังฆาฏิภายนอกพระนคร. ก็สรีระของพระเถระ
มีสีเหมือนทองคำ ลูกชายของโสไรยเศรษฐี เห็นท่านแล้ว จึงคิดว่า
" สวยจริงหนอ พระเถระรูปนี้ ควรเป็นภริยาของเรา, หรือสีแห่งสรีระ
ของภริยาของเรา พึงเป็นเหมือนสีแห่งสรีระของพระเถระนั้น." ในขณะ
สักว่าเขาคิดแล้วเท่านั้น เพศชายของเศรษฐีบุตรนั้น ก็หายไป, เพศหญิง
ได้ปรากฏแล้ว. เขาละอายจึงลงจากยานน้อยหนีไป. ชนใกล้เคียงจำลูก
ชายเศรษฐีนั้นไม่ได้ จึงกล่าวว่า "อะไรนั่น ๆ ?" แม้นางก็เดินไปสู่
หนทางอันไปยังเมืองตักกสิลา.