เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [22. พาวีสติมวรรค] 8. อัพยากตกถา (215)
8. อัพยากตกถา (215)
ว่าด้วยอัพยากตจิต
[901] สก. จิตของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤตใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. บุคคลอาจฆ่าสัตว์ได้ด้วยความฝันใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. หากบุคคลอาจฆ่าสัตว์ได้ด้วยความฝัน ท่านก็ไม่ควรยอมรับว่า “จิต
ของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤต”
สก. บุคคลอาจลักทรัพย์ได้ด้วยความฝัน ฯลฯ พูดเท็จ ฯลฯ พูดส่อเสียด
ฯลฯ พูดคำหยาบ ฯลฯ พูดเพ้อเจ้อ ฯลฯ ตัดช่องย่องเบา ฯลฯ ปล้นสะดม ฯลฯ
ปล้นเรือนหลังเดียว ฯลฯ ดักปล้นในทางเปลี่ยว ฯลฯ ผิดภรรยาของผู้อื่น ฯลฯ
ปล้นชาวบ้าน ฯลฯ ปล้นชาวนิคม ฯลฯ เสพเมถุนธรรมได้ด้วยความฝัน ฯลฯ
อสุจิของผู้ฝันอาจเคลื่อนได้ ฯลฯ อาจให้ทาน ฯลฯ จีวร ฯลฯ บิณฑบาต ฯลฯ
เสนาสนะ ฯลฯ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ฯลฯ ของขบเคี้ยว ฯลฯ ของกิน ฯลฯ
น้ำดื่ม ฯลฯ อาจไหว้พระเจดีย์ ฯลฯ อาจยกดอกไม้ ฯลฯ ของหอม ฯลฯ
เครื่องลูบไล้ขึ้นไว้บนพระเจดีย์ ฯลฯ อาจทำประทักษิณพระเจดีย์ได้ด้วยความฝัน
ใช่ไหม
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอุตตราปถกะบางพวก (อภิ.ปญฺจ.อ. 901-902/321)
2 เพราะมีความเห็นว่า จิตของบุคคลผู้ฝันเป็นอัพยากฤต โดยอ้างพระสูตรว่า เจตนาของบุคคลผู้ฝัน
เป็นอัพโพหาริก (ไม่สามารถจะเรียกว่าเป็นกุศลหรืออกุศล) ซึ่งต่างกับความเห็นของสกวาทีที่เห็นว่า จิตของ
บุคคลผู้ฝันอาจจะเป็นได้ทั้งกุศล อกุศล และอัพยากฤต แต่ไม่สามารถที่จะให้ผลได้ ฉะนั้น จึงจัดเป็น
อัพโพหาริก แต่ไม่เป็นอัพยากฤต (อภิ.ปญฺจ.อ. 901-902/321)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :930 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [22. พาวีสติมวรรค] 9. อาเสวนปัจจยตากถา (216)
สก. หากบุคคลอาจทำประทักษิณพระเจดีย์ได้ด้วยความฝัน ท่านก็ไม่ควร
ยอมรับว่า “จิตของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤต”
[902] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “จิตของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤต”
ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. จิตของบุคคลผู้ฝัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอัพโพหาริก” มิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. หากจิตของบุคคลผู้ฝัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอัพโพหาริก”
ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า “จิตของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤต”
อัพยากตกถา จบ

9. อาเสวนปัจจยตากถา (216)
ว่าด้วยความเป็นอาเสวนปัจจัย
[903] สก. ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างไม่มีใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต
(การฆ่าสัตว์) ที่บุคคลเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมอำนวยผลให้ไปเกิดในนรก
อำนวยผลให้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อำนวยผลให้ไปเกิดในภูมิแห่งเปรต วิบาก
แห่งปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้เป็นผู้มีอายุสั้นแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์”3
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอุตตราปถกะบางพวก (อภิ.ปญฺจ.อ. 903-905/322)
2 เพราะมีความเห็นว่า สภาวธรรมทุกอย่างตั้งอยู่ชั่วขณะเดียว แม้มีสภาวธรรมบางอย่างตั้งอยู่ชั่วมุหุตตะเดียว
ก็เป็นอาเสวนปัจจัยไม่ได้ ฉะนั้น ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างจึงไม่มี ธรรมบางอย่างที่เกิดเพราะ
อาเสวนปัจจัยไม่มีด้วย ซึ่งต่างกับความเห็นของสกวาทีที่เห็นว่า ธรรมที่ตั้งอยู่ครู่เดียวเป็นอาเสวนปัจจัยได้
(อภิ.ปญฺจ.อ. 903-905/322) ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 722 หน้า 770 ในเล่มนี้
3 ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/40/301-302

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :931 }