เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [20. วีสติมวรรค] 3. นิรยปาลกถา (196)
[868] สก. นายนิรยบาลไม่มีในนรกใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย นายนิรยบาลทำ
กรรมกรณ์ (เครื่องสำหรับลงอาญา)ชื่อเครื่องพันธนาการ 5 อย่าง คือ ตอกตะปู
เหล็กแดงที่มือ 2 ข้าง ที่เท้า 2 ข้าง และที่กลางอก เขาเสวยทุกขเวทนากล้า
อย่างหนัก เผ็ดร้อน ณ ที่นั้น แต่ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป” 1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น นายนิรยบาลจึงมีอยู่ในนรก
สก. นายนิรยบาลไม่มีในนรกใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย นายนิรยบาล
ฉุดลากเขาไป เอาขวานถาก นายนิรยบาลจับเขาเอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง เอา
มีดเฉือน ฯลฯ จับเขาเทียมรถแล่นกลับไปกลับมาบนพื้นอันร้อนลุกเป็นเปลว
โชติช่วง ฯลฯ บังคับเขาขึ้นลงภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่ไฟลุกโชน ฯลฯ จับเขา
เอาเท้าขึ้น เอาศีรษะลง ทุ่มลงไปในโลหกุมภีอันร้อนแดง ลุกเป็นแสงไฟ เขาถูก
ต้มเดือดจนตัวพองในโลหกุมภีนั้น บางครั้งลอยขึ้น บางครั้งจมลง บางครั้งลอยขวาง
เขาเสวยทุกขเวทนากล้าอย่างหนัก เผ็ดร้อนอยู่ในในโลหกุมภีอันร้อนแดงนั้น แต่
ยังไม่ตายตราบเท่าที่บาปกรรมยังไม่สิ้นไป นายนิรยบาลจับเขาทุ่มลงไปในมหานรก
ก็มหานรกนั้น (มีลักษณะ) ดังนี้

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ม.อุ. (แปล) 14/250/294-295, องฺ.ติก. (แปล) 20/36/191-194

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :899 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [20. วีสติมวรรค] 4. ติรัจฉานกถา (197)
มี 4 มุม 4 ประตู แบ่งกำหนดออกเป็นส่วน
มีกำแพงเหล็กล้อมรอบ ครอบด้วยฝาเหล็ก
มีพื้นเป็นเหล็กลุกโชติช่วง
แผ่ความร้อนไกลด้านละ 100 โยชน์
ตั้งอยู่ทุกเมื่อ”1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น นายนิรยบาลจึงมีอยู่ในนรก
นิรยปาลกถา จบ

4. ติรัจฉานกถา (197)
ว่าด้วยสัตว์ดิรัจฉาน
[869] สก. สัตว์ดิรัจฉานมีอยู่ในหมู่เทวดาใช่ไหม
ปร.2 ใช่3
สก. เทวดามีอยู่ในหมู่สัตว์ดิรัจฉานใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. สัตว์ดิรัจฉานมีอยู่ในหมู่เทวดาใช่ไหม
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ม.อุ. (แปล) 14/250/294-295, องฺ.ติก. (แปล) 20/36/194, ขุ.เปต. (แปล) 26/70-71/
179,240-241/206, 693-694/281, ขุ.ม. (แปล) 29/170/482, ขุ.จู. (แปล) 30/122/
402-408
2 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอันธกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 869/312)
3 เพราะมีความเห็นว่า ในเทวโลก มีเทวบุตรที่เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เช่น เอราวัณเทพบุตร ซึ่งต่างกับความเห็น
ของสกวาทีที่เห็นว่า เทพบุตรที่เป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่มี แต่มีเทพบุตรจำแลงเป็นสัตว์ (อภิ.ปญฺจ.อ.
869/312)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :900 }