เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [17. สัตตรสมวรรค] 10. นวัตตัพพังพุทธัสสทินนังมหัปผลันติกถา (175)
ด้วยว่า พระสงฆ์นี้มีคุณยิ่งใหญ่ ไพบูลย์
หาประมาณมิได้ ดุจทะเลเปี่ยมด้วยน้ำ
พระอริยบุคคลเหล่านี้แลเป็นผู้ประเสริฐสุด
เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร
เป็นผู้ให้แสงสว่างคือปัญญาแก่ชาวโลก ย่อมยกธรรมขึ้นแสดง
ทานที่บุคคลถวายเจาะจงสงฆ์นั้น ชื่อว่าเป็นทานถวายดีแล้ว
บูชาสักการะอย่างดีแล้ว ทักษิณาที่ถวายสงฆ์นั้นมีผลมาก
ทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงรู้แจ้งโลกก็ทรงสรรเสริญแล้ว
เหล่าชนมาหวนระลึกถึงบุญเช่นนี้ได้เกิดปีติและโสมนัส
กำจัดมลทินคือความตระหนี่พร้อมทั้งมูลได้
ท่องเที่ยวไปในโลก ไม่ถูกบัณฑิตติเตียน
จึงเข้าถึงแดนสวรรค์ได้”1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ทานที่ถวายแด่พระสงฆ์จึงมีผลมาก
นวัตตัพพังสังฆัสสทินนังมหัปผลันติกถา จบ

10. นวัตตัพพังพุทธัสสทินนังมหัปผลันติกถา (175)
ว่าด้วยไม่ควรยอมรับว่าทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้ามีผลมาก
[799] สก. ท่านไม่ยอมรับว่า “ทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้ามีผลมาก” ใช่ไหม
ปร.2 ใช่3

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ขุ.วิ. (แปล) 26/643-645/71,752-754/87-88
2 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายเวตุลลกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 799/296)
3 เพราะมีความเห็นว่า พระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงฉันอะไร ๆ แต่เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก ย่อมทรงแสดงพระ
องค์เหมือนกับว่าทรงฉันอยู่ ดังนั้น การถวายทานแด่พระพุทธเจ้าจึงไม่ควรกล่าวว่ามีผลมาก (อภิ.ปญฺจ.อ.
799/296)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :833 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [17. สัตตรสมวรรค] 10. นวัตตัพพังพุทธัสสทินนังมหัปผลันติกถา (175)
สก. พระผู้มีพระภาคเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นประธาน เป็นผู้อุดม
เป็นผู้ล้ำเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หาผู้เสมอมิได้1 เสมอกับบุคคลผู้หาผู้
เสมอมิได้2 ไม่มีใครเปรียบเทียบ3 ไม่มีผู้ทำกิจเปรียบเทียบ4 หาบุคคลเปรียบเทียบ
มิได้5 ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. หากพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นประธาน
เป็นผู้อุดม เป็นผู้ล้ำเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หาผู้เสมอมิได้ เสมอกับ
บุคคลผู้หาผู้เสมอมิได้ ไม่มีใครเปรียบเทียบ ไม่มีผู้ทำกิจเปรียบเทียบ หาบุคคล
เปรียบเทียบมิได้ ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า “ทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้ามี
ผลมาก”
สก. ท่านไม่ยอมรับว่า “ทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้ามีผลมาก” ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. ใคร ๆ ที่เสมอเหมือนพระพุทธเจ้าโดยศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่ใช่ไหม
ปร. ไม่มี
สก. หากใคร ๆ ผู้เสมอเหมือนพระพุทธเจ้าโดยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่มี
ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า “ทานที่ถวายแด่พระพุทธเจ้ามีผลมาก”

เชิงอรรถ :
1 หาผู้เสมอมิได้ หมายถึงไม่มีสรรพสัตว์เท่าเทียมกับพระองค์ เพราะไม่มีบุคคลจะเปรียบเทียบได้ (องฺ.เอกก.อ.
1/174/105)
2 เสมอกับบุคคลผู้หาผู้เสมอมิได้ หมายถึงทรงเป็นผู้เสมอกับสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งในอดีตและ
อนาคต ซึ่งหาผู้เสมอมิได้ (องฺ.เอกก.อ. 1/174/105)
3 ไม่มีใครเปรียบเทียบ หมายถึงไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมที่พระตถาคตแสดงไว้ได้ เช่น
สติปัฏฐาน 4 ประการ ไม่มีใครสามารถแสดงย่อให้เหลือเป็น 3 ประการ หรือเพิ่มให้เป็น 5 ประการได้
(องฺ.เอกก.อ. 1/174/105)
4 ไม่มีผู้ทำกิจเปรียบเทียบ หมายถึงไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมที่พระตถาคตแสดงไว้ได้ เช่น
สติปัฏฐาน 4 ประการ ไม่มีใครสามารถแสดงย่อให้เหลือเป็น 3 ประการ หรือเพิ่มให้เป็น 5 ประการได้
(องฺ.เอกก.อ. 1/174/105)
5 หาบุคคลเปรียบเทียบมิได้ หมายถึงไม่มีใครอื่นที่จะกล้าปฏิญาณว่า เราเป็นพระพุทธเจ้าได้เหมือนพระ
ตถาคต (องฺ.เอกก.อ. 1/174/105)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :834 }