เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [17. สัตตรสมวรรค] 4. อินทริยพัทธกถา (169)
4. อินทริยพัทธกถา (169)
ว่าด้วยสิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์
[786] สก. สิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้นเป็นทุกข์1 ใช่ไหม
ปร.2 ใช่
สก. สิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้นไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัย
เกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรผันไปเป็นธรรมดาใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. สิ่งที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรผันไปเป็นธรรมดามิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากสิ่งที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัย
เกิดขึ้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรผันไปเป็นธรรมดา ท่านก็
ไม่ควรยอมรับว่า “สิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้นเป็นทุกข์”
สก. สิ่งที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
ฯลฯ มีความแปรผันไปเป็นธรรมดา แต่สิ่งนั้นไม่เป็นทุกข์ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. สิ่งที่เนื่องด้วยอินทรีย์ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ฯลฯ มีความแปรผัน
ไปเป็นธรรมดา แต่สิ่งนั้นไม่เป็นทุกข์ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ทุกข์ มี 2 อย่าง คือ (1) ทุกข์ที่เนื่องด้วยอินทรีย์ (สิ่งที่มีชีวิต) ที่เรียกว่าทุกข์ เพราะเป็นสภาวะที่สิ่งมีชีวิต
ทนได้ยาก (2) ทุกข์ที่ไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ (สิ่งที่ไม่มีชีวิต) ที่เรียกว่าทุกข์ เพราะตกอยู่ในสภาพที่ไม่ยั่งยืน
ในที่นี้ปรวาทีเห็นว่า ทุกข์ที่เนื่องด้วยอินทรีย์เท่านั้นจัดเป็นทุกข์ ซึ่งต่างกับความเห็นของสกวาทีที่เห็นว่า ทุกข์
ทั้งที่เนื่องด้วยอินทรีย์และไม่เนื่องด้วยอินทรีย์ จัดเป็นทุกข์ทั้งนั้น (อภิ.ปญฺจ.อ. 786-787/292)
2 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายเหตุวาท (อภิ.ปญฺจ.อ. 786-787/292)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :822 }