เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [12. ทวาทสมวรรค] 8. ชีวิตาโวโรปนกถา (123)
7. เอกพีชีกถา (122)
ว่าด้วยบุคคลผู้เอกพีชี
[647] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “บุคคลผู้เอกพีชี1 เป็นผู้แน่นอนที่จะเกิดอีก
ครั้งเดียว” ใช่ไหม
สก. ใช่2
ปร. ผู้นั้นเป็นเอกพีชีมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. หากผู้นั้นเป็นเอกพีชี ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า “บุคคลผู้เอกพีชี
เป็นผู้แน่นอนที่จะเกิดอีกครั้งเดียว”
เอกพีชีกถา จบ

8. ชีวิตาโวโรปนกถา (123)
ว่าด้วยการปลงชีวิต
[648] สก. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ3อาจจงใจปลงชีวิตสัตว์ได้ใช่ไหม
ปร.4ใช่5

เชิงอรรถ :
1 บุคคลผู้เอกพีชี หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ประการได้แล้ว ไม่มีทาง
ตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า มีพืชคืออัตภาพเดียว คือเกิดอีกครั้งเดียวก็บรรลุ
อรหัตตผล (อภิ.ปญฺจ.อ. 33/54), ดูเทียบ อภิ.ปุ. (แปล) 36/33/154
2 เพราะมีความเห็นว่า ไม่มีกฎตายตัวว่า จะต้องเกิดครั้งเดียวจึงจะบรรลุอรหัตตผล อาจบรรลุในชาตินั้นก็ได้
ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความแก่กล้าแห่งอินทรีย์ของแต่ละบุคคล ซึ่งต่างกับความเห็นของปรวาทีที่เห็นว่า ต้อง
เกิดอีก 1 ภพแน่นอน (ตีความตามพยัญชนะ)
3 ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน ซึ่งมีชื่อว่า “ผู้ถึงพร้อมด้วยทัศนะ” บ้าง “ผู้
มาสู่พระสัทธรรม” บ้าง “ผู้เห็นพระสัทธรรม” บ้าง “ผู้ประกอบด้วยญาณของพระเสขะ” บ้าง
“ผู้ประกอบด้วยวิชชาของพระเสขะ” บ้าง “ผู้เข้าถึงกระแสธรรม” บ้าง “ผู้มีปัญญาแทงตลอด” บ้าง
“ผู้ยืนจรดประตูอมตะ” บ้าง (องฺ.เอกก.อ. 1/268/402)
4 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายปุพพเสลิยะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 648/265)
5 เพราะมีความเห็นว่า แม้เป็นพระโสดาบันอยู่ก็อาจทำปาณาติบาตได้ ซึ่งต่างกับความเห็น
ของสกวาทีที่เห็นว่า พระโสดาบันจะไม่ทำปาณาติบาตโดยเจตนาอย่างแน่นอน (อภิ.ปญฺจ.อ. 648-649/265)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :703 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [12. ทวาทสมวรรค] 8. ชีวิตาโวโรปนกถา (123)
สก. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ อาจจงใจปลงชีวิตมารดา ฯลฯ ปลงชีวิตบิดา
ปลงชีวิตพระอรหันต์ มีจิตคิดประทุษร้ายทำร้ายพระตถาคตจนพระโลหิตห้อ ฯลฯ
ทำลายสงฆ์ให้แตกกันได้ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิอาจจงใจปลงชีวิตสัตว์ได้ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดาใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นผู้ไม่มีความเคารพในพระธรรม ฯลฯ ใน
พระสงฆ์ ฯลฯ ในสิกขาใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดามิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นผู้มีความเคารพในพระศาสดา ท่านก็ไม่
ควรยอมรับว่า “บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิอาจจงใจปลงชีวิตสัตว์ได้” บุคคลผู้ถึงพร้อม
ด้วยทิฏฐิเป็นผู้มีความเคารพในพระธรรม ฯลฯ ในพระสงฆ์ ฯลฯ ในสิกขามิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิเป็นผู้มีความเคารพในสิกขา ท่านก็ไม่ควร
ยอมรับว่า “บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิอาจจงใจปลงชีวิตสัตว์ได้”
[649] สก. บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ เป็นผู้ไม่มีความเคารพในพระศาสดา
ใช่ไหม
ปร. ใช่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :704 }