เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [7. สัตตมวรรค] รวมกถาที่มีในวรรค
สก. วิบากเป็นสภาวธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดวิบากใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. บุคคลถูกไหม้อยู่ในนรกด้วยจิตดวงที่เป็นเหตุฆ่าสัตว์เท่านั้น บันเทิงอยู่
ในสวรรค์ก็ด้วยจิตดวงที่เป็นเหตุให้ทานเท่านั้นใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
[502] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “วิบากเป็นสภาวธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก”
ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. วิบากคืออรูปขันธ์ 4 เป็นอัญญมัญญปัจจัยมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. หากวิบากคืออรูปขันธ์ 4 เป็นอัญญมัญญปัจจัย ดังนั้น ท่านจึงควร
ยอมรับว่า “วิบากเป็นสภาวธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก”
วิปาโกวิปากธัมมธัมโมติกถา จบ
สัตตมวรรค จบ

รวมกถาที่มีในวรรคนี้ คือ

1. สังคหิตกถา 2. สัมปยุตตกถา
3. เจตสิกกถา 4. ทานกถา
5. ปริโภคมยปุญญกถา 6. อิโตทินนกถา
7. ปฐวีกัมมวิปาโกติกถา 8. ชรามรณังวิปาโกติกถา
9. อริยธัมมวิปากกถา 10. วิปาโกวิปากธัมมธัมโมติกถา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :534 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [8. อัฏฐมวรรค] 1. ฉคติกถา (73)
8. อัฏฐมวรรค
1. ฉคติกถา (73)
ว่าด้วยคติ 6
[503] สก. คติมี 6 ใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. คติ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ 5 อย่าง คือ นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ภูมิแห่งเปรต มนุษย์ เทวดามิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากคติพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ 5 อย่าง คือ นรก กำเนิดดิรัจฉาน
ภูมิแห่งเปรต มนุษย์ เทวดา ท่านก็ไม่ควรยอมรับว่า “คติมี 6”
สก. คติมี 6 ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. อสูรจำพวกกาลกัญชิกา มีรูปร่างเหมือนกัน มีการเสพกามเหมือนกัน
มีอาหารเหมือนกัน มีอายุเหมือนกันกับเปรตทั้งหลาย และแต่งงานกับเปรตทั้งหลาย
ได้มิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. หากอสูรจำพวกกาลกัญชิกา มีรูปร่างเหมือนกัน มีการเสพกามเหมือนกัน
มีอาหารเหมือนกัน มีอายุเหมือนกันกับเปรตทั้งหลาย และแต่งงานกับเปรต
ทั้งหลายได้ ท่านก็ไม่ควรยอมรับว่า “คติมี 6”

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอันธกะและนิกายอุตตราปถกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 503/232)
2 เพราะมีความเห็นว่า คติมี 6 คือ (1) เทวคติ (2) มนุสสคติ (3) เปตคติ (4) อสุรกายคติ (แยก
มาจากนิรยคติ) (5) ติรัจฉานคติ (6) นิรยคติ ซึ่งต่างกับความเห็นของสกวาทีที่เห็นว่า คติมีเพียง 5
โดยไม่แยกอสุรกายออกเป็นคติหนึ่งต่างหาก แต่จัดพวกอสุรกายฝ่ายชั่วเข้าในเปตคติ และจัดพวกอสุรกาย
ฝ่ายดีเข้าในเทวคติ (อภิ.ปญฺจ.อ. 503/232)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :535 }