เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [7. สัตตมวรรค] 6. อิโตทินนกถา (68)
[491] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “เปรตทั้งหลายดำรงชีพในเปตโลกนั้น ด้วย
ทานที่บุคคลอุทิศให้จากโลกนี้ได้” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาเมื่อ
เห็นฐานะ 5 ประการนี้ จึงปรารถนาบุตรผู้เกิดในตระกูล
ฐานะ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงเรา
2. บุตรจักช่วยทำกิจของเรา
3. วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
4. บุตรจักปฏิบัติตนให้สมควรรับทรัพย์มรดกไว้
5. เมื่อเราทั้งสองตายไป บุตรจักทำบุญอุทิศให้
ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาเมื่อเห็นฐานะ 5 ประการนี้แล จึงปรารถนาบุตร
ผู้เกิดในตระกูล
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะ 5 ประการจึงปรารถนาบุตร
ด้วยหวังว่า บุตรที่เราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา
จักช่วยทำกิจของเรา
วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
จักปฏิบัติตนให้สมควรแก่การรับทรัพย์มรดก
และเมื่อเราทั้งสองตายแล้วจักทำบุญอุทิศให้
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร
เพราะฉะนั้น บุตรผู้เป็นสัตบุรุษ ผู้สงบ
เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล
เมื่อระลึกถึงคุณท่านที่ทำไว้ต่อเราก่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :520 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [7. สัตตมวรรค] 7. ปฐวีกัมมวิปาโกติกถา (69)
จึงเลี้ยงมารดาบิดา ช่วยทำกิจของท่าน
เชื่อฟังโอวาท ตอบสนองพระคุณท่าน
ดำรงวงศ์ตระกูลสมกับที่ท่านเป็นบุพการี
บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมเป็นที่สรรเสริญ” 1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. ดังนั้น เปรตทั้งหลายชื่อว่าย่อมดำรงชีพในเปตโลกนั้น ด้วยทานที่
บุคคลอุทิศให้จากโลกนี้ได้
อิโตทินนกถา จบ

7. ปฐวีกัมมวิปาโกติกถา (69)
ว่าด้วยแผ่นดินเป็นกรรมวิบาก
[492] สก. แผ่นดินเป็นกรรมวิบากใช่ไหม
ปร.2 ใช่3
สก. แผ่นดินมีสุขเวทนา มีทุกขเวทนา มีอทุกขมสุขเวทนา สัมปยุตด้วย
สุขเวทนา สัมปยุตด้วยทุกขเวทนา สัมปยุตด้วยอทุกขมสุขเวทนา สัมปยุตด้วยผัสสะ
สัมปยุตด้วยเวทนา สัมปยุตด้วยสัญญา สัมปยุตด้วยเจตนา สัมปยุตด้วยจิต รับรู้
อารมณ์ได้ มีความนึกถึง มีความผูกใจ มีความสนใจ มีความใฝ่ใจ มีความจงใจ
มีความปรารถนา มีความตั้งใจใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) 22/39/60-61
2 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอันธกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 492/227)
3 เพราะมีความเห็นว่า แผ่นดิน มหาสมุทร เป็นต้น เป็นผลแห่งกรรม (อภิ.ปญฺจ.อ. 492/227)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :521 }