เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [7. สัตตมวรรค] 6. อิโตทินนกถา (68)
ปร. เปรตทั้งหลายอนุโมทนาทานที่เขาอุทิศให้เพื่อประโยชน์แก่ตน ทำจิตให้
เลื่อมใส ให้เกิดปีติ ได้โสมนัสมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. หากเปรตทั้งหลายอนุโมทนาทานที่เขาอุทิศให้เพื่อประโยชน์แก่ตน ทำจิต
ให้เลื่อมใส ให้เกิดปีติ ได้โสมนัส ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า “เปรตทั้งหลาย
ดำรงชีพในเปตโลกนั้น ด้วยทานที่บุคคลอุทิศให้จากโลกนี้ได้”
[490] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “เปรตทั้งหลายดำรงชีพในเปตโลกนั้นด้วยทาน
ที่บุคคลอุทิศให้จากโลกนี้ได้” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
“ฝนที่ตกลงบนที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด
ทานที่ทายกอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้
ย่อมสำเร็จผลแน่นอนแก่พวกเปรต ฉันนั้นเหมือนกัน
ในเปตวิสัย1 นั้น ไม่มีกสิกรรม โครักขกรรม
พาณิชกรรมเช่นนั้น(และ)การแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วยเงิน
ผู้ที่ตายไปเกิดเป็นเปรตในเปตวิสัยนั้น
ดำรงชีพด้วยผลทานที่พวกญาติอุทิศให้จากมนุษยโลกนี้” 2
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. ดังนั้น เปรตทั้งหลายจึงดำรงชีพในเปตโลกนั้น ด้วยทานที่บุคคลอุทิศ
ให้จากโลกนี้ได้

เชิงอรรถ :
1 เปตวิสัย หมายถึงภูมิหรือกำเนิดแห่งเปรต (ขุ.ขุ.อ. 7/188)
2 ดูเทียบ ขุ.ขุ. (แปล) 25/7-8/16

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :519 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [7. สัตตมวรรค] 6. อิโตทินนกถา (68)
[491] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “เปรตทั้งหลายดำรงชีพในเปตโลกนั้น ด้วย
ทานที่บุคคลอุทิศให้จากโลกนี้ได้” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาเมื่อ
เห็นฐานะ 5 ประการนี้ จึงปรารถนาบุตรผู้เกิดในตระกูล
ฐานะ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงเรา
2. บุตรจักช่วยทำกิจของเรา
3. วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
4. บุตรจักปฏิบัติตนให้สมควรรับทรัพย์มรดกไว้
5. เมื่อเราทั้งสองตายไป บุตรจักทำบุญอุทิศให้
ภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาเมื่อเห็นฐานะ 5 ประการนี้แล จึงปรารถนาบุตร
ผู้เกิดในตระกูล
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะ 5 ประการจึงปรารถนาบุตร
ด้วยหวังว่า บุตรที่เราเลี้ยงแล้วจักเลี้ยงเรา
จักช่วยทำกิจของเรา
วงศ์ตระกูลจักดำรงอยู่ได้นาน
จักปฏิบัติตนให้สมควรแก่การรับทรัพย์มรดก
และเมื่อเราทั้งสองตายแล้วจักทำบุญอุทิศให้
มารดาบิดาผู้ฉลาด
เมื่อเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนาบุตร
เพราะฉะนั้น บุตรผู้เป็นสัตบุรุษ ผู้สงบ
เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล
เมื่อระลึกถึงคุณท่านที่ทำไว้ต่อเราก่อน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :520 }