เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [4. จตุตถวรรค] 7. ลักขณกถา (39)
สก. พระโพธิสัตว์พอประสูติแล้วเดี๋ยวนั้น ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสอง
อันราบเรียบ บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ดำเนินไปได้ 7 ก้าว มีฉัตรขาวกั้นตามไป
ทรงแลดูทิศทั้งปวง และเปล่งอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นใหญ่ในโลก
เราเป็นผู้ประเสริฐในโลก นี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก” ฉันใด พระเจ้า
จักรพรรดิพอประสูติแล้วเดี๋ยวนั้น ประทับยืนด้วยพระบาททั้งสองอันราบเรียบ
บ่ายพระพักตร์สู่ทิศเหนือ ดำเนินไปได้ 7 ก้าว มีฉัตรขาวกั้นตามไป ทรงแลดูทิศ
ทั้งปวง และเปล่งอาสภิวาจาว่า “เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นใหญ่ในโลก เราเป็น
ผู้ประเสริฐในโลก นี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก” ฉันนั้นเหมือนกันใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติย่อมปรากฏแสงสว่างรัศมีอันเจิดจ้า แผ่นดินไหว
อย่างสะท้านสะเทือน ฉันใด เมื่อพระเจ้าจักรพรรดิประสูติก็ย่อมปรากฏแสงสว่าง
รัศมีอันเจิดจ้า แผ่นดินไหวอย่างสะท้านสะเทือน ฉันนั้นเหมือนกันใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. พระกายตามปกติของพระโพธิสัตว์ ฉายพระรัศมีออกไปวาหนึ่งโดยรอบ
ฉันใด พระกายตามปกติของพระเจ้าจักรพรรดิก็ฉายพระรัศมีออกไปวาหนึ่งโดยรอบ
ฉันนั้นเหมือนกันใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. พระโพธิสัตว์ทรงมหาสุบิน ฉันใด พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงมหาสุบิน
ฉันนั้นเหมือนกันใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
[402] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “ผู้บริบูรณ์ด้วยพระลักษณะเป็นพระโพธิสัตว์”
ใช่ไหม
สก. ใช่1

เชิงอรรถ :
1 เพราะมีความเห็นว่า ผู้สมบูรณ์ด้วยพระลักษณะ 32 ประการ เช่น พระเจ้าจักพรรดิ มิได้เป็นพระโพธิสัตว์ก็มี
(อภิ.ปญฺจ.อ. 402/204)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :427 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [4. จตุตถวรรค] 8. นิยาโมกกันติกถา (40)
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มหาบุรุษสมบูรณ์
ด้วยลักษณะ 32 ประการ มีคติเพียง 2 อย่างเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น คือ
1. ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักพรรดิผู้ทรงธรรม ครองราชย์
โดยธรรม ทรงเป็นใหญ่ในแผ่นดินมีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต
ทรงได้รับชัยชนะ มีพระราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7
ประการ คือ (1) จักรแก้ว (2) ช้างแก้ว (3) ม้าแก้ว (4) มณีแก้ว
(5) นางแก้ว (6) คหบดีแก้ว (7) ปริณายกแก้ว มีพระราชโอรส
มากกว่า 1,000 องค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์
สามารถย่ำยีราชศัตรูได้ พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาชญา
ไม่ต้องใช้ศัสตรา ครอบครองแผ่นดินนี้มีสาครเป็นขอบเขต
2. ถ้าออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก”1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. ดังนั้น ผู้บริบูรณ์ด้วยพระลักษณะจึงเป็นพระโพธิสัตว์ได้
ลักขณกถา จบ

8. นิยาโมกกันติกถา (40)
ว่าด้วยการหยั่งลงสู่นิยาม
[403] สก. พระโพธิสัตว์หยั่งลงสู่นิยาม2 ประพฤติพรหมจรรย์2 แล้วใน
ศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะใช่ไหม
ปร.3 ใช่4

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ปา. (แปล) 11/199-200/159-160
2 คำว่า นิยามก็ดี พรหมจรรย์ก็ดี เป็นชื่อของอริยมรรค ดังนั้น คำว่า หยั่งลงสู่นิยาม หมายถึง
บรรลุอริยมรรค (อภิ.ปญฺจ.อ. 403/206)
3 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอันธกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 403/206)
4 เพราะมีความเห็นว่า พระโพธิสัตว์โชติปาละเคยได้อริยมรรคมาแล้วในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า
กัสสปะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 403/206)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :428 }