เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [3. ตติยวรรค] รวมกถาที่มีในวรรค
สก. เพราะท่านเข้าใจว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนภพมีอยู่” จึงไม่ยอมรับว่า
“มีสัญญาก็ใช่ ไม่มีสัญญาก็ใช่” ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. เพราะท่านเข้าใจว่า “อทุกขมสุขเวทนามีอยู่” จึงไม่ยอมรับว่า
มีเวทนาก็ใช่ ไม่มีเวทนาก็ใช่” ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

เนวสัญญานาสัญญายตนกถา จบ
ตติยวรรค จบ

รวมกถาที่มีในวรรคนี้ คือ

1. พลกถา 2. อริยันติกถา
3. วิมุตติกถา 4. วิมุจจมานกถา
5. อัฏฐมกกถา 6. อัฏฐมกัสสอินทริยกถา
7. ทิพพจักขุกถา 8. ทิพพโสตกถา
9. ยถากัมมูปคตญาณกถา 10. สังวรกถา
11. อสัญญกถา 12. เนวสัญญานาสัญญายตนกถา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :398 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [4. จตุตถวรรค] 1. คิหิสสอรหาติกถา (33)
4. จตุตถวรรค
1. คิหิสสอรหาติกถา (33)
ว่าด้วยคฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์
[387] สก. คฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์ได้ใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. คิหิสังโยชน์3 ของพระอรหันต์มีอยู่ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. คิหิสังโยชน์ของพระอรหันต์ไม่มีใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. หากคิหิสังโยชน์ของพระอรหันต์ไม่มี ท่านก็ไม่ควรยอมรับว่า “คฤหัสถ์
เป็นพระอรหันต์ได้”
สก. คฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์ได้ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. คิหิสังโยชน์ พระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. หากคิหิสังโยชน์ พระอรหันต์ละได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ท่านก็
ไม่ควรยอมรับว่า “คฤหัสถ์เป็นพระอรหันต์ได้”

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอุตตราปถกะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 387/201)
2 เพราะมีความเห็นว่า คฤหัสถ์ก็สามารถเป็นพระอรหันต์ได้ ที่เห็นอย่างนี้เพราะกำหนดความเป็นคฤหัสถ์
ด้วยเพศคฤหัสถ์ ซึ่งต่างกับความเห็นของสกวาทีที่กำหนดความเป็นคฤหัสถ์ด้วยคิหิสังโยชน์ มิได้ถือเอา
เพศคฤหัสถ์เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ คฤหัสถ์ผู้สามารถบรรลุอรหัตตผลได้ ต้องละคิหิสังโยชน์ได้แล้ว (อภิ.ปญฺจ.อ.
387/201)
3 คิหิสังโยชน์ หมายถึงเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์ ซึ่งมีทรัพย์สมบัติ บุตร ข้าทาส บริวาร และกามคุณ
5 ประการ อันเป็นเหตุให้ครองชีวิตแบบคฤหัสถ์เรื่อยไป (ม.ม.อ. 2/186/144)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :399 }