เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [2. ทุติยวรรค] 5. วจีเภทกถา (14)
สก. พระผู้มีพระภาคตรัสว่าวิตกและวิจารเป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน ฯลฯ
ตรัสว่าปีติเป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน ตรัสว่าลมอัสสาสะปัสสาสะเป็นปฏิปักษ์ต่อ
จตุตถฌาน ตรัสว่ารูปสัญญาเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้เข้าอากาสานัญจายตนะ ตรัสว่า
อากาสานัญจายตนสัญญาเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้เข้าวิญญาณัญจายตนะ ตรัสว่า
วิญญาณัญจายตนสัญญาเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้เข้าอากิญจัญญายตนะ ตรัสว่า
อากิญจัญญายตนสัญญาเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ตรัสว่า
สัญญาและเวทนาเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาของผู้
เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธนั้นมีอยู่ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “การเปล่งวาจาของผู้เข้าฌานมีอยู่” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “อานนท์ สาวกชื่อว่าอภิภูของ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี สถิตอยู่ในพรหมโลก ได้
ประกาศให้หมื่นจักรวาลทราบด้วยเสียงว่า
“ท่านทั้งหลายจงปรารภความเพียร
จงทำความเพียรอย่าหยุดยั้ง
จงประกอบความเพียรในพระพุทธศาสนา
จงกำจัดกองทัพแห่งมัจจุ
เหมือนช้างกำจัดเรือนต้นอ้อ ฉะนั้น
ผู้ที่ไม่ประมาทอยู่ในพระธรรมวินัยนี้
ละการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. ดังนั้น การเปล่งวาจาของผู้เข้าฌานจึงมีอยู่
วจีเภทกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/185/258

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :302 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [2. ทุติยวรรค] 6. ทุกขาหารกถา (15)
6. ทุกขาหารกถา (15)
ว่าด้วยทุกขาหารญาณ1
[334] สก. การกล่าวว่า “ทุกข์” เป็นองค์ของมรรค นับเนื่องในมรรคใช่ไหม
ปร.2 ใช่3
สก. ทุกคนที่กล่าวว่า “ทุกข์” ชื่อว่าเจริญมรรคใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น4 ฯลฯ
สก. ทุกคนที่กล่าวว่า “ทุกข์” ชื่อว่าเจริญมรรคใช่ไหม
ปร. ใช่5
สก. พาลปุถุชนที่กล่าวว่า “ทุกข์” ชื่อว่าเจริญมรรคใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
สก. ผู้ฆ่ามารดา ฯลฯ ฆ่าบิดา ฯลฯ ฆ่าพระอรหันต์ ฯลฯ ทำร้ายพระ
พุทธเจ้าจนถึงพระโลหิตห้อ ฯลฯ ทำลายสงฆ์ให้แตกกัน กล่าวว่า “ทุกข์” ชื่อว่า
เจริญมรรคใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ

ทุกขาหารกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 ทุกขาหารญาณ หมายถึงญาณที่เกิดขึ้นขณะที่กล่าวว่าทุกข์ (อภิ.ปญฺจ.อ. 334/184)
2 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกาย ปุพพเสลิยะ (อภิ.ปญฺจ.อ. 334/184)
3 เพราะมีความเห็นว่า บุคคลผู้กล่าวว่า ทุกข์ ทุกข์ คือผู้เจริญมรรคจนรู้แจ้งทุกข์ (อภิ.ปญฺจ.อ. 334/184)
4 เพราะหมายเอาผู้ไม่รู้แจ้งทุกข์ จึงตอบปฏิเสธ (อภิ.ปญฺจ.อ. 334/184)
5 เพราะหมายเอาผู้รู้แจ้งทุกข์ จึงตอบรับ (อภิ.ปญฺจ.อ. 334/184)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :303 }