เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 4. ชหติกถา
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ครูสุเนตรนั้นเป็น
ผู้มีอายุยืนนานอย่างนี้ เป็นผู้ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงกล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม 4 ประการ ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ (1) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล (2) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ
(3) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา (4) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เรา
ได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราถอนภวตัณหา
ได้แล้ว ภวเนตติสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
“พระโคดมผู้มียศ ตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ
ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์ ปรินิพพานแล้ว”1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “ปุถุชนละกามราคะและพยาบาทได้”

ชหติกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/186/132-133, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/1/2, องฺ.สตฺตก. (แปล) 23/66/136

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :174 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 5. สัพพมัตถีติกถา
5. สัพพมัตถีติกถา
ว่าด้วยสิ่งทั้งปวงมีอยู่
1. วาทยุตติ
ว่าด้วยหลักการใช้วาทะ
[282] สก. สิ่งทั้งปวงมีอยู่ใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. สิ่งทั้งปวงมีอยู่ในโอกาส3ทั้งปวงใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น
สก. สิ่งทั้งปวงมีอยู่ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. สิ่งทั้งปวงมีอยู่ในกาลทั้งปวงใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น
สก. สิ่งทั้งปวงมีอยู่ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. สิ่งทั้งปวงมีอยู่โดยประการทั้งปวงใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น
สก. สิ่งทั้งปวงมีอยู่ใช่ไหม
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายสัพพัตถิกวาท (อภิ.ปญฺจ.อ. 282/170)
2 เพราะมีความเห็นว่า สภาวธรรมทั้งที่เป็นอดีตและอนาคตมีอยู่จริงเหมือนปัจจุบัน ซึ่งจัดเป็นสัสสตทิฏฐิ
(อภิ.ปญฺจ.อ. 282/170)
3 ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 11 หน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :175 }