เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 4. ชหติกถา
สก. เหล่าชนผู้บรรลุธรรมได้ทั้งหมด ดำรงอยู่ในอนาคามิผล พร้อมกับการ
ได้บรรลุธรรมใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ฯลฯ
ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “ปุถุชนละกามราคะและพยาบาทได้” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
“ครูทั้ง 6 ผู้มียศ ได้รับยกย่องว่าเป็นเจ้าลัทธิในอดีต
เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ1 มุ่งมั่นในกรุณา
ล่วงพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้
เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว
แม้สาวกหลายร้อยคนของครูเหล่านั้น
ก็เป็นผู้หมดกลิ่นสาบ มุ่งมั่นในกรุณา
ล่วงพ้นกามสังโยชน์ คลายกามราคะเสียได้
เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว” 2
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. ดังนั้น ปุถุชนจึงละกามราคะและพยาบาทได้
สก. ปุถุชนละกามราคะและพยาบาทได้ใช่ไหม
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 คำว่า กลิ่นสาบ ในที่นี้หมายถึงความโกรธ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/54/134)
2 ดูเทียบ องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/54/530-531

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :173 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 4. ชหติกถา
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ครูสุเนตรนั้นเป็น
ผู้มีอายุยืนนานอย่างนี้ เป็นผู้ดำรงอยู่ได้นานอย่างนี้ แต่ก็ไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เราจึงกล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดธรรม 4 ประการ ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ (1) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล (2) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ
(3) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา (4) เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ
ภิกษุทั้งหลาย เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยศีล เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยสมาธิ เรา
ได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยปัญญา เราได้รู้แจ้งแทงตลอดอริยวิมุตติ เราถอนภวตัณหา
ได้แล้ว ภวเนตติสิ้นไปแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มีอีก”
(พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส
คาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า)
“พระโคดมผู้มียศ ตรัสรู้ธรรมเหล่านี้ คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม
ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกธรรม
แก่ภิกษุทั้งหลายเพื่อความรู้ยิ่ง
พระศาสดาผู้มีพระจักษุ
ทรงทำที่สุดแห่งทุกข์ ปรินิพพานแล้ว”1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “ปุถุชนละกามราคะและพยาบาทได้”

ชหติกถา จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ ที.ม. (แปล) 10/186/132-133, องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/1/2, องฺ.สตฺตก. (แปล) 23/66/136

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :174 }