เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 2. ปริหานิกถา
“ท่านเป็นผู้ไม่มีตัณหา ไม่มีความถือมั่น
ไม่มีกิจที่ต้องทำ กิเลสวัฏท่านตัดแล้ว ไม่มีที่จะต้องตัดอีก
ห้วงน้ำและบ่วง1ท่านถอนได้แล้ว”
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “กิเลสวัฏที่พระอรหันต์ตัดแล้ว ยังมี
บางอย่างที่ยังจะต้องตัดอีก”
[266] สก. พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. กิจ2ที่ทำแล้วต้องสั่งสมอีกใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น
สก. กิจที่ทำแล้วต้องสั่งสมอีกใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า
“ภิกษุผู้มีจิตสงบระงับหลุดพ้นโดยชอบ
ย่อมไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ทั้งไม่มีกิจที่จะต้องทำอีก
ภูเขาหินแท่งทึบย่อมไม่สะเทือนเพราะลม ฉันใด
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ทั้งมวล
ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้ ฉันนั้น

เชิงอรรถ :
1 ห้วงน้ำและบ่วง คำว่า ห้วงน้ำ ในที่นี้หมายถึงห้วงน้ำคือกิเลส (กิเลโสโฆ) และคำว่า บ่วง หมายถึงบ่วงแห่งกิเลส
(กิเลสปาโส) (อภิ.ปญฺจ.อ. 265/165)
2 กิจ ในที่นี้หมายถึงภาวนา (อภิ.ปญฺจ.อ. 266/165)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :139 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 2. ปริหานิกถา
จิตของผู้คงที่นั้น เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว
ไม่เกาะเกี่ยวด้วยอารมณ์อะไร
เพราะท่านผู้คงที่พิจารณาเห็นความเกิดดับของจิตนั้น” 1
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “กิจที่ทำแล้วต้องสั่งสมอีกมีอยู่”
[267] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้” ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้
ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุผู้เป็นสมยวิมุต ธรรม 5 ประการ คือ (1)
ความเป็นผู้ชอบการงาน (2) ความเป็นผู้ชอบการพูดคุย (3) ความเป็นผู้ชอบ
การนอนหลับ (4) ความเป็นผู้ชอบการคลุกคลีด้วยหมู่ (5) ไม่พิจารณาจิตตาม
ที่หลุดพ้นแล้ว ภิกษุทั้งหลาย ธรรม 5 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อม
แก่ภิกษุผู้เป็นสมยวิมุต” 2 มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. ดังนั้น “พระอรหันต์จึงเสื่อมจากอรหัตตผลได้”
สก. ความเป็นผู้ชอบการงานของพระอรหันต์มีอยู่ใช่ไหม
ปร. ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น
สก. ความเป็นผู้ชอบการงานของพระอรหันต์มีอยู่ใช่ไหม
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) 5/245/12-13, องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/55/538-539
2 ดูเทียบ องฺ.ปญฺจก. (แปล) 22/149/246

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :140 }