เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 1. ปุคคลกถา
ปร. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เป็นเอก
เมื่อเกิดขึ้นในโลก ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์
ทั้งหลาย” 1 มีอยู่จริงมิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงหยั่งรู้บุคคลได้โดยสัจฉิกัฏฐปรมัตถ์
[231] สก. ท่านหยั่งรู้บุคคลได้โดยสัจฉิกัฏฐปรมัตถ์ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นสัจจวาที กาลวาที ภูตวาที ตถวาที อวิตถวาที
อนัญญถวาที มิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา”2
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “ข้าพเจ้าหยั่งรู้บุคคลได้โดยสัจฉิกัฏฐ-
ปรมัตถ์”
[232] สก. ท่านหยั่งรู้บุคคลได้โดยสัจฉิกัฏฐปรมัตถ์ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระผู้มีพระภาคทรงเป็นสัจจวาที กาลวาที ภูตวาที ตถวาที อวิตถวาที
อนัญญถวาที มิใช่หรือ
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.เอกก. (แปล) 20/170/22
2 ดูเทียบ ม.มู. (แปล) 12/356/391-392, สํ.ข. (แปล) 17/90/171

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :102 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [1. มหาวรรค] 1. ปุคคลกถา
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “อริยสาวกไม่สงสัย ไม่เคลือบ
แคลงใจว่า เมื่อเกิด ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น เมื่อดับ ทุกข์เท่านั้นดับไป อริยสาวกนั้นมี
ญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย กัจจานะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ จัดว่า
เป็นสัมมาทิฏฐิ” 1 มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรยอมรับว่า “ข้าพเจ้าหยั่งรู้บุคคลได้โดยสัจฉิกัฏฐ-
ปรมัตถ์”
[233] สก. ท่านหยั่งรู้บุคคลได้โดยสัจฉิกัฏฐปรมัตถ์ใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. วชิราภิกษุณีกล่าวกับมารผู้มีบาปดังนี้ว่า
“มารเอ๋ย ทิฏฐิของเจ้าเชื่อใครหนอว่าเป็นสัตว์
ร่างกายที่เป็นกองแห่งสังขารล้วน ๆ นี้
บัณฑิตจะเรียกว่าสัตว์ไม่ได้เลย
เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สมมติว่าสัตว์ก็มีได้
เหมือนเสียงพูดว่ารถย่อมมีได้
เพราะการคุมกันแห่งส่วนประกอบ
อนึ่ง ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
ทุกข์เท่านั้นดำรงอยู่และแปรผันไป
นอกจากทุกข์ไม่มีสิ่งอื่นเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรอื่นดับไปเลย” 2
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ สํ.นิ. (แปล) 16/15/24-25
2 ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) 15/171/228, ขุ.ม. (แปล) 29/186/527-528

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :103 }