เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[188] บุคคลผู้ไปตามกระแส1 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เสพกามและทำบาปกรรม2 บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไปตาม
กระแส
บุคคลผู้ไปทวนกระแส เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เสพกามและไม่ทำบาปกรรม ถึงจะมีทุกข์ โทมนัส
ร้องไห้น้ำตานองหน้า แต่ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ บุคคลนี้
เรียกว่า ผู้ไปทวนกระแส
บุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 ประการสิ้นไป เป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้มีภาวะตั้งมั่น
บุคคลผู้ลอยบาปข้ามถึงฝั่งดำรงอยู่บนบก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองอยู่ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ลอยบาปข้ามถึงฝั่งดำรง
อยู่บนบก
[189] บุคคลผู้มีสุตะน้อย ทั้งไม่เข้าถึงสุตะ3 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละน้อย แต่เขาหารู้อรรถ4รู้ธรรม5แห่งสุตะน้อยนั้นแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลผู้มีสุตะน้อย ทั้งไม่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างนี้
บุคคลผู้มีสุตะน้อย แต่เข้าถึงสุตะ เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/5/7-8
2 บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการฆ่าสัตว์เป็นต้น (องฺ. จตุกฺก. อ. 2/5/281)
3 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/6/9-10
4 อรรถ ในที่นี้หมายถึงอรรถกถา (องฺ. จตุกฺก. อ. 2/6/282)
5 ธรรม ในที่นี้หมายถึงบาลี (องฺ. จตุกฺก. อ. 2/6/282)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :216 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละน้อย แต่เขารู้อรรถรู้ธรรมแห่งสุตะน้อยนั้นปฏิบัติธรรม
สมควรแก่ธรรม บุคคลผู้มีสุตะน้อยแต่เข้าถึงสุตะเป็นอย่างนี้
บุคคลผู้มีสุตะมากแต่ไม่เข้าถึงสุตะ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละมาก แต่เขาหารู้อรรถรู้ธรรมแห่งสุตะมากนั้นแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลผู้มีสุตะมากแต่ไม่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างนี้
บุคคลผู้มีสุตะมากทั้งเข้าถึงสุตะ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละมาก ทั้งเขาก็รู้อรรถรู้ธรรมแห่งสุตะมากนั้นปฏิบัติ
ธรรมสมควรแก่ธรรม บุคคลผู้มีสุตะมาก ทั้งเข้าถึงสุตะ เป็นอย่างนี้
[190] บุคคลผู้เป็นสมณะไม่หวั่นไหว1 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป เป็นโสดาบัน ไม่มี
ทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ2 ในวันข้างหน้า บุคคลนี้เรียกว่า ผู้
เป็นสมณะไม่หวั่นไหว
บุคคลผู้เป็นสมณะเหมือนดอกบุณฑริก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์ 3 ประการสิ้นไป และเพราะราคะ โทสะ
โมหะเบาบาง เป็นสกทาคามี มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะทำที่สุดแห่ง
ทุกข์ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสมณะเหมือนดอกบุณฑริก
บุคคลผู้เป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 ประการสิ้นไป เป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้เป็นสมณะเหมือนดอกปทุม
บุคคลผู้เป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/88/134-35
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 31 (เอกกปุคคลบัญญัติ) หน้า 154 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :217 }