เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[187] บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน1 แต่ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรม
ด้วยปัญญาอันยิ่ง2 เป็นไฉน3
บุคคลบางคนในโลกนี้ได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ แต่
ไม่ได้โลกุตตรมรรคหรือโลกุตตรผล บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
แต่ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ไม่ได้ความสงบแห่ง
จิตภายใน เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ได้โลกุตตรมรรคหรือโลกุตตรผล แต่ไม่ได้สมาบัติมีรูป
เป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าผู้ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่ง แต่ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
บุคคลผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่ง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ ได้
โลกุตตรมรรคหรือโลกุตตรผล บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าผู้ได้ความสงบแห่งจิตภายในและได้
ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
บุคคลผู้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายในและไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่ง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่ได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์ ไม่
ได้โลกุตตรมรรคหรือโลกุตตรผล บุคคลเช่นนี้ชื่อว่าผู้ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน
และไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงอัปปนาจิตตสมาธิในสันดาน(ความสืบต่อแห่งจิตคือกระแสจิตที่เกิดดับต่อเนื่องกัน)ของตน
(องฺ.สตฺตก.อ. 2/92/366)
2 ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาญาณที่กำหนดรู้สังขารคือปัญญาอันยิ่ง
และความเห็นแจ้งในธรรมคือเบญจขันธ์ (องฺ.สตฺตก.อ. 2/92/366)
3 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/92/140

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :215 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[188] บุคคลผู้ไปตามกระแส1 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เสพกามและทำบาปกรรม2 บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไปตาม
กระแส
บุคคลผู้ไปทวนกระแส เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่เสพกามและไม่ทำบาปกรรม ถึงจะมีทุกข์ โทมนัส
ร้องไห้น้ำตานองหน้า แต่ก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้ บุคคลนี้
เรียกว่า ผู้ไปทวนกระแส
บุคคลผู้มีภาวะตั้งมั่น เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 ประการสิ้นไป เป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในภพนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้มีภาวะตั้งมั่น
บุคคลผู้ลอยบาปข้ามถึงฝั่งดำรงอยู่บนบก เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะ
ทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองอยู่ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ลอยบาปข้ามถึงฝั่งดำรง
อยู่บนบก
[189] บุคคลผู้มีสุตะน้อย ทั้งไม่เข้าถึงสุตะ3 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีสุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละน้อย แต่เขาหารู้อรรถ4รู้ธรรม5แห่งสุตะน้อยนั้นแล้ว
ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ บุคคลผู้มีสุตะน้อย ทั้งไม่เข้าถึงสุตะ เป็นอย่างนี้
บุคคลผู้มีสุตะน้อย แต่เข้าถึงสุตะ เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/5/7-8
2 บาปกรรม ในที่นี้หมายถึงการฆ่าสัตว์เป็นต้น (องฺ. จตุกฺก. อ. 2/5/281)
3 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/6/9-10
4 อรรถ ในที่นี้หมายถึงอรรถกถา (องฺ. จตุกฺก. อ. 2/6/282)
5 ธรรม ในที่นี้หมายถึงบาลี (องฺ. จตุกฺก. อ. 2/6/282)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :216 }