เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
สุขเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติและมีสัมปชัญญะ
อยู่ และเสวยสุขทางกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะกล่าวว่า “มีจิตเป็นอุเบกขา
มีสติอยู่เป็นสุข” เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไป บรรลุ
จตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีความบริสุทธิ์แห่งสติอันเกิดจากอุเบกขาอยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง
2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง 4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง 10 ชาติบ้าง 20 ชาติบ้าง
30 ชาติบ้าง 40 ชาติบ้าง 50 ชาติบ้าง 100 ชาติบ้าง 1,000 ชาติบ้าง 100,000
ชาติบ้าง ตลอดสังสัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอด
สังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า “ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มี
อาหาร เสวยสุข ทุกข์ และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น
แม้ในภพนั้นเราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมี
อายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิดในภพนี้” เธอระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ
พร้อมทั้งลักษณะทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
[184] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
เธอน้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้
ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า “หมู่สัตว์ที่ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต
และมโนทุจริตติเตียนพระอริยะมีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความ
เห็นผิด เขาเหล่านั้นหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ส่วนหมู่สัตว์ที่ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ มี
ความเห็นชอบ ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ เขาเหล่านั้นหลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์” เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำ
และชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :213 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
[185] ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน
ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้
น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์
นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้อาสวะ นี้เหตุเกิดแห่งอาสวะ นี้
ความดับอาสวะ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ”
เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และ
อวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า “หลุดพ้นแล้ว” รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบ
พรหมจรรย์1แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
บุคคลผู้ไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำตนให้เดือดร้อน
และไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อนไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอย่างนี้
เขาไม่ทำตนให้เดือดร้อน ไม่ทำผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่หมั่นประกอบในการทำผู้อื่น
ให้เดือดร้อน เป็นผู้ไม่หิว ดับร้อน เย็นใจ เสวยสุข มีตนประเสริฐอยู่ในปัจจุบัน
[186] บุคคลผู้มีราคะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ยังละราคะไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีราคะ
บุคคลผู้มีโทสะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ยังละโทสะไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีโทสะ
บุคคลผู้มีโมหะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ยังละโมหะไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีโมหะ
บุคคลผู้มีมานะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ยังละมานะไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีมานะ

เชิงอรรถ :
1 อยู่จบพรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจ
อื่นที่จะต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ชื่อว่าอเสขบุคคล (ที.สี.อ.
248/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :214 }