เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
ละเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ คือรับเอาแต่สิ่งของที่เขาให้
มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือประพฤติพรหมจรรย์1 เว้นห่าง
ไกลเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
ละเว้นขาดจากคำส่อเสียด คือฟังความจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอกฝ่ายโน้น
เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น
สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชม ยินดี เพลิดเพลินต่อผู้
ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ เสนาะโสต น่ารัก จับใจ
เป็นคำชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
ละเว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์
พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบ
ด้วยประโยชน์ เหมาะแก่กาลเวลา
[179] ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันมื้อเดียว
ไม่ฉันในเวลากลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล2
เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีและดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เว้นขาดการทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และ
เครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึงการงดเว้นจากการเสพเมถุนธรรม ได้แก่ การร่วม
ประเวณี การร่วม
สังวาสกล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของชาวบ้าน มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ
เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ ๆ (วิ.มหา. (แปล) 1/55/36)
2 เวลาวิกาล หมายถึงเวลาที่ห้าม ใช้เฉพาะแต่ละเรื่อง ในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่หลัง
เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้น (ที.สี.อ. 10/75)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :210 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่
เว้นขาดจากการรับทองและเงิน
เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ1
เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ
เว้นขาดจากการรับสตรี2และกุมารี3
เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย
เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ
เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร
เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา
เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน
เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร4
เว้นขาดจากการซื้อขาย
เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด
เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง
เว้นขาดจากการตัด(อวัยวะ) การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราว การปล้น
และการขู่กรรโชก
[180] ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกายและบิณฑบาตพออิ่มท้อง
เธอจะไป ณ ที่ใด ๆ ก็ไปได้ทันที เหมือนนกบินไป ณ ที่ใด ๆ ก็มีแต่ปีกเป็นภาระ
เธอประกอบด้วยสีลขันธ์อันเป็นอริยะนี้แล้วย่อมเสวยสุขอันปราศจากโทษในภายใน

เชิงอรรถ :
1 ธัญญาหารดิบ หมายถึงธัญชาติที่มีเมล็ด มีเปลือกสมบูรณ์พร้อมที่จะงอกได้ เช่น ข้าวเปลือก (ที.สี.อ.
10/75)
2 สตรี หมายถึงหญิงที่แต่งงานแล้ว (อภิ.ปญฺจ.อ. 179/103)
3 กุมารี หมายถึงหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน (อภิ.ปญฺจ.อ. 179/103)
4 เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร หมายถึงการส่งหนังสือหรือข่าวสารของคฤหัสถ์ (อภิ.ปญฺจ.อ. 179/104)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :211 }