เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
และงามในที่สุด1 ทรงประกาศพรหมจรรย์2พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วน
คหบดี บุตรแห่งคหบดีหรืออนุชนในตระกูลใดตระกูลหนึ่งได้สดับธรรมนั้น
ครั้นได้สดับธรรมนั้นแล้วเกิดศรัทธาในพระตถาคต เมื่อมีศรัทธาย่อมตระหนักว่า
“การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด3เป็นทางแห่งธุลี4 การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง5
การที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ที่ขัด
แล้วมิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออก
จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด”
ต่อมาเขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
[178] บุคคลนั้นบวชแล้วอย่างนี้ ถึงความเป็นผู้มีสิกขา6และสาชีพ7แห่ง
ภิกษุทั้งหลาย ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ คือ วางทัณฑาวุธและศัสตราวุธ มี
ความละอาย มีความเอ็นดู หวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่

เชิงอรรถ :
1 หมายถึงนิพพาน (ที.สี.อ. 190/159)
2 พรหมจรรย์ ในที่นี้หมายถึงความประพฤติประเสริฐ มีนัย 10 ประการ คือ
(1) ทาน การให้ (2) เวยยาวัจจะ การขวนขวายช่วยเหลือ
(3) ปัญจศีล ศีลห้า (4) อัปปมัญญา การประพฤติพรหมจรรย์อย่างไม่
มีขอบเขต
(5) เมถุนวิรัติ การงดเว้นจากการเสพเมถุน (6) สทารสันโดษ ความยินดีเฉพาะคู่ครองของตน
(7) วิริยะ ความเพียร (8) อุโปสถังคะ องค์อุโบสถ
(9) อริยมรรค ทางอันประเสริฐ (10) ศาสนา ในที่นี้หมายถึงพุทธศาสนา
(ที.สี.อ. 190/161-162)
3 เป็นเรื่องอึดอัด ในที่นี้หมายถึงมีความกังวลใจ ห่วงใยต่อกันและกันระหว่างสามีภรรยา ไม่สะดวกต่อ
การสั่งสมกุศล (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/198/421)
4 เป็นทางแห่งธุลี ในที่นี้หมายถึงเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสอันทำจิตให้เศร้าหมอง เช่น ราคะเป็นต้น
(ที.สี.อ. 191/163,องฺ.จตุกฺก.อ. 2/198/422)
5 เป็นทางปลอดโปร่ง ในที่นี้หมายถึงนักบวชแม้จะอยู่ในเรือนยอด ปราสาทแก้ว หรือเทพวิมานซึ่งมีประตู
หน้าต่างปลอดปิดมิดชิดก็ยังถือว่าปลอดโปร่ง เพราะนักบวชไม่มีความยึดติดในสิ่งใด ๆ (ที.สี.อ. 191/163)
6 สิกขา หมายถึงอธิศีลสิกขาของภิกษุ (วิ.มหา. (แปล) 1/55/33)
7 สาชีพ หมายถึงสิกขาบทที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติไว้แก่ภิกษุ (วิ.มหา. (แปล) 1/55/33)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :209 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
ละเว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ คือรับเอาแต่สิ่งของที่เขาให้
มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่
ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ คือประพฤติพรหมจรรย์1 เว้นห่าง
ไกลเมถุนธรรมอันเป็นกิจของชาวบ้าน
ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำ
เป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก
ละเว้นขาดจากคำส่อเสียด คือฟังความจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่ไปบอกฝ่ายโน้น
เพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น
สมานคนที่แตกแยกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชม ยินดี เพลิดเพลินต่อผู้
ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี
ละเว้นขาดจากคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ เสนาะโสต น่ารัก จับใจ
เป็นคำชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่ พอใจ
ละเว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดคำจริง พูดอิงประโยชน์
พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบ
ด้วยประโยชน์ เหมาะแก่กาลเวลา
[179] ภิกษุนั้นเป็นผู้เว้นขาดจากการพรากพืชคามและภูตคาม ฉันมื้อเดียว
ไม่ฉันในเวลากลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล2
เว้นขาดจากการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีและดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล
เว้นขาดการทัดทรง ประดับตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ ของหอม และ
เครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว

เชิงอรรถ :
1 ประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึงการงดเว้นจากการเสพเมถุนธรรม ได้แก่ การร่วม
ประเวณี การร่วม
สังวาสกล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของชาวบ้าน มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ต้องทำในที่ลับ
เป็นการกระทำของคนที่เป็นคู่ ๆ (วิ.มหา. (แปล) 1/55/36)
2 เวลาวิกาล หมายถึงเวลาที่ห้าม ใช้เฉพาะแต่ละเรื่อง ในที่นี้หมายถึงผิดเวลาที่กำหนดไว้ คือตั้งแต่หลัง
เที่ยงวันจนถึงอรุณขึ้น (ที.สี.อ. 10/75)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :210 }