เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 4. จตุกกปุคคลบัญญัติ
บุคคลผู้สูงมาและสูงไป เป็นไฉน
ฯลฯ1
บุคคลผู้สูงมาและสูงไป เป็นอย่างนี้
[170] ในบทมาติกานั้น บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้ 4 จำพวก2 เป็นไฉน
ต้นไม้ 4 ชนิด คือ
1. ต้นไม้เนื้ออ่อนแต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
2. ต้นไม้เนื้อแข็งแต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
3. ต้นไม้เนื้ออ่อนและมีต้นไม้เนื้ออ่อน3แวดล้อม
4. ต้นไม้เนื้อแข็งและมีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้ 4 จำพวกเหล่านี้มีปรากฏอยู่ในโลกอย่างนี้เหมือนกัน
บุคคล 4 จำพวก เป็นไฉน
1. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนแต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
2. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งแต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
3. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนและมีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
4. บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งและมีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนแต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม แต่บริษัทของเขาเป็นผู้มี
ศีล มีธรรมอันงาม บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนแต่มีต้นไม้เนื้อแข็งแวดล้อม
บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้ออ่อนแต่มีต้นไม่เนื้อแข็งแวดล้อม
บุคคลเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งแต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม แต่บริษัทของเขาเป็นผู้ทุศีล
มีธรรมอันเลวทราม บุคคลเช่นนี้เปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งแต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม
บุคคลประเภทนี้จึงเปรียบเหมือนต้นไม้เนื้อแข็งแต่มีต้นไม้เนื้ออ่อนแวดล้อม

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในข้อ 168
2 ดู องฺ. จตุกฺก. (แปล) 21/109/165-66
3ต้นไม้เนื้ออ่อน แปลจากบาลีว่า เผคฺคุ ซึ่งโดยทั่วไปแปลว่า กระพี้ แต่ในอรรถกถาแก้เป็น นิสฺสาโร เผคฺคุรุกฺโข
หมายถึงต้นไม้มีกระพี้ แต่ปราศจากแก่น (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/109/370)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :203 }