เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 3. ติกปุคคลบัญญัติ
แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง และไม่พอใจ บุคคลเช่นนี้ควรวางเฉย ไม่ควรเสพ
ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลบางคนคิดว่า
“บุคคลเช่นนี้จะพึงด่าเราบ้าง บริภาษเราบ้าง ทำเราให้ฉิบหายบ้าง” เพราะฉะนั้น
บุคคลเช่นนี้จึงควรวางเฉย ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้
[126] บุคคลที่ควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลเช่นนี้ควรเสพ ควรคบ
ควรเข้าไปนั่งใกล้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุคคลทั่วไปแม้จะไม่ได้ตามอย่างบุคคลเช่นนี้
แต่กิตติศัพท์อันงามของเขาก็ขจรไปว่า “คนคบมิตรดี คบสหายดี คบเพื่อนดี”
เพราะฉะนั้น บุคคลเช่นนี้จึงควรเสพ ควรคบ ควรเข้าไปนั่งใกล้
[127] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้พอประมาณในสมาธิ
ทำให้พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นโสดาบันและสกทาคามี บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้
บริบูรณ์ในศีล ทำให้พอประมาณในสมาธิ ทำให้พอประมาณในปัญญา
[128] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้
พอประมาณในปัญญา เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นอนาคามี บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้
บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้พอประมาณในปัญญา
[129] บุคคลผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้
บริบูรณ์ในปัญญา เป็นไฉน
บุคคลผู้เป็นอรหันต์ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีปกติทำให้บริบูรณ์ในศีล ทำให้
บริบูรณ์ในสมาธิ ทำให้บริบูรณ์ในปัญญา
[130] ในบทมาติกานั้น บุคคลผู้เป็นศาสดา 3 จำพวก เป็นไฉน
ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกาม แต่ไม่บัญญัติการละรูป ไม่บัญญัติ
การละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกามและบัญญัติการละรูป แต่
ไม่บัญญัติการละเวทนา ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติการละกาม บัญญัติการละรูป
และบัญญัติการละเวทนา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :181 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 3. ติกปุคคลบัญญัติ
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกาม แต่ไม่บัญญัติการละรูป
ไม่บัญญติการละเวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นศาสดาผู้ได้รูปาวจรสมาบัติ
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกามและบัญญัติการละรูป แต่ไม่
บัญญัติการละเวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นศาสดาผู้ได้อรูปสมาบัติ บรรดา
ศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติการละกาม บัญญัติการละรูป และบัญญัติการละ
เวทนา ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ บุคคลผู้เป็น
ศาสดา 3 จำพวกเหล่านี้
[131] บรรดาบุคคลเหล่านั้น บุคคลผู้เป็นศาสดา 3 จำพวกแม้อื่นอีก เป็นไฉน
ศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน และบัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน ส่วนศาสดาบางคนในโลกนี้บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความ
เป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน แต่ไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้า โดยความ
เป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และศาสดาบางคนในโลกนี้ไม่บัญญัติอัตตา
ในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน และไม่บัญญัติอัตตาใน
ภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของยั่งยืน
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาที่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน และบัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดย
ความเป็นของยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้มีวาทะว่าเที่ยง
บรรดาศาสดาเหล่านั้น ศาสดาผู้ที่บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง
โดยความเป็นของยั่งยืน แต่ไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง
โดยความเป็นของยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่าเป็นศาสดาผู้มีวาทะว่าขาดสูญ
ศาสดาผู้ที่ไม่บัญญัติอัตตาในปัจจุบันโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของ
ยั่งยืน และไม่บัญญัติอัตตาในภพหน้าโดยความเป็นของมีจริง โดยความเป็นของ
ยั่งยืน ด้วยการบัญญัตินั้นพึงเห็นว่า เป็นศาสดาผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ บุคคลผู้เป็น
ศาสดา 3 จำพวกแม้อื่นอีก
ติกนิทเทส จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :182 }