เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 3. ติกปุคคลบัญญัติ
[99] บุคคลผู้พูดภาษาดอกไม้ 1 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ อยู่ในสภา
อยู่ในบริษัท อยู่ในท่ามกลางญาติ อยู่ในท่ามกลางทหาร หรืออยู่ในท่ามกลางราช
สำนัก ถูกเขานำไปอ้างเป็นพยานซักถามว่า “บุรุษผู้เจริญ มาเถิด ท่านรู้สิ่งใด
จงกล่าวสิ่งนั้น” บุคคลนั้นไม่รู้ก็กล่าวว่า “ไม่รู้” หรือรู้ก็กล่าวว่า “รู้” ไม่เห็นก็
กล่าวว่า “ไม่เห็น” หรือเห็นก็กล่าวว่า “เห็น” ไม่พูดเท็จทั้งที่รู้ เพราะเหตุแห่งตน
เพราะเหตุแห่งบุคคลอื่น หรือเพราะเหตุคือเห็นแก่อามิสเล็กน้อย ด้วยประการฉะนี้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาดอกไม้
[100] บุคคลผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง1 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ สบายหู ไพเราะ จับใจ
เป็นวาจาของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้พูดภาษาน้ำผึ้ง
[101] บุคคลผู้มีจิตเหมือนแผลเก่า2 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มักโกรธ มากไปด้วยความคับแค้นใจ ถูกว่ากล่าว
เพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคือง
และไม่พอใจ เปรียบเหมือนแผลเก่าถูกไม้หรือกระเบื้องกระทบเข้า ย่อมหลั่งน้ำ
หนองออกมากขึ้นชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มัก
โกรธ มากไปด้วยความแค้นใจ แม้ถูกว่ากล่าวเพียงเล็กน้อยก็ขัดใจ โกรธเคือง
พยาบาท ขึ้งเคียด แสดงอาการโกรธ ขัดเคืองและไม่พอใจ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มี
จิตเหมือนแผลเก่า
[102] บุคคลผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ2 เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์
นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” เปรียบเหมือนคนตาดีพึงเห็นรูป
ในขณะที่ฟ้าแลบในเวลากลางคืนที่มืดมิดชื่อแม้ฉันใด บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉัน
นั้นเหมือนกัน รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์
นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์” บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีจิตเหมือนฟ้าแลบ

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.ติก. (แปล) 20/28/178
2 ดู องฺ.ติก. (แปล) 20/25/173

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :171 }