เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 2. ทุกนิทเทส
การไม่ล่วงละเมิดทางกาย การไม่ล่วงละเมิดทางวาจา การไม่ล่วงละเมิดทั้ง
ทางกายและทางวาจา นี้เรียกว่า ความสมบูรณ์ด้วยศีล บุคคลผู้ประกอบด้วย
ความสมบูรณ์ด้วยศีลนี้ชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
[82] บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ
เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิเช่นนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล
ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีผล โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ
สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นมี สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก นี้เรียกว่า ความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิแม้ทั้งหมดชื่อว่าความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ บุคคลผู้ประกอบด้วยความ
สมบูรณ์ด้วยทิฏฐินี้ชื่อว่าผู้สมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ
[83] บุคคลผู้หาได้ยากในโลก 2 จำพวก เป็นไฉน
คือ ปุพพการีบุคคลและกตัญญูกตเวทีบุคคล บุคคล 2 จำพวกเหล่านี้หาได้
ยากในโลก
[84] บุคคลผู้ให้อิ่มได้ยากในโลก 2 จำพวก เป็นไฉน
คือ บุคคลผู้เก็บสะสมสิ่งของที่ตนได้แล้ว ๆ และบุคคลผู้สละสิ่งของที่ตนได้
แล้ว ๆ บุคคล 2 จำพวกเหล่านี้ชื่อว่าผู้ให้อิ่มได้ยาก
[85] บุคคลผู้ให้อิ่มได้ง่าย 2 จำพวก เป็นไฉน
คือ บุคคลผู้ไม่เก็บสะสมสิ่งของที่ตนได้แล้ว ๆ และบุคคลผู้ไม่สละสิ่งของที่ตน
ได้แล้วๆ บุคคล 2 จำพวกเหล่านี้ชื่อว่าผู้ให้อิ่มได้ง่าย
[86] อาสวะของบุคคล 2 จำพวกเหล่าไหนย่อมเพิ่มพูน
บุคคลผู้รังเกียจสิ่งที่ไม่ควรรังเกียจและบุคคลผู้ไม่รังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ
อาสวะของบุคคล 2 จำพวกเหล่านี้ย่อมเพิ่มพูน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :166 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 3. ติกปุคคลบัญญัติ
[87] อาสวะของบุคคล 2 จำพวกเหล่าไหนย่อมไม่เพิ่มพูน
บุคคลผู้ไม่รังเกียจสิ่งที่ไม่ควรรังเกียจและบุคคลผู้รังเกียจสิ่งที่ควรรังเกียจ
อาสวะของบุคคล 2 จำพวกเหล่านี้ย่อมไม่เพิ่มพูน
[88] บุคคลผู้มีอัธยาศัยเลว เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม เขาย่อมเสพ ย่อมคบหา
ย่อมเข้าไปนั่งใกล้บุคคลอื่นผู้ทุศีลมีธรรมอันเลวทราม บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีอัธยาศัยเลว
[89] บุคคลผู้มีอัธยาศัยประณีต เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม เขาย่อมเสพ ย่อมคบหา ย่อม
เข้าไปนั่งใกล้บุคคลอื่นผู้มีศีล มีธรรมอันงาม บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีอัธยาศัยประณีต
[90] บุคคลผู้อิ่มแล้ว เป็นไฉน
พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกของพระตถาคตชื่อว่าผู้อิ่มแล้ว พระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าชื่อว่าผู้อิ่มแล้วและทำคนอื่นให้อิ่ม
ทุกนิทเทส จบ

3. ติกปุคคลบัญญัติ
[91] บุคคลที่หมดความหวัง เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลวทราม ไม่สะอาด1 มีสมาจารอัน
คนอื่นระลึกด้วยความรังเกียจ มีการงานอันปกปิด มิใช่สมณะแต่ปฏิญญาว่าเป็น
สมณะ มิใช่ผู้ประพฤติพรหมจรรย์แต่ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เน่าใน ชุ่ม
ด้วยราคะ เป็นเหมือนหยากเยื่อ เธอได้ฟังมาว่า “ภิกษุผู้มีชื่ออย่างนี้ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” เธอย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า “แม้เราก็จักทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่ง
เองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” ดังนี้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ที่หมดความหวัง

เชิงอรรถ :
1 ไม่สะอาด ในที่นี้หมายถึงมีกายกรรมเป็นต้นไม่สะอาด (อภิ.ปญฺจ.อ. 91/67)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :167 }