เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 2. ทุกปุคคลบัญญัติ
[70] บุคคลผู้ไม่มีความตระหนี่ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความตระหนี่ เป็นไฉน
ความตระหนี่ 5 อย่าง คือ
1. ความตระหนี่ที่อยู่ 2. ความตระหนี่ตระกูล
3. ความตระหนี่ลาภ 4. ความตระหนี่วรรณะ
5. ความตระหนี่ธรรม
ความตระหนี่ กิริยาที่ตระหนี่ ภาวะที่ตระหนี่ ความหวงแหน ความ
เหนียวแน่น ความปกปิด ความมีจิตไม่เผื่อแผ่ นี้เรียกว่า ความตระหนี่ บุคคล
ใดละความตระหนี่นี้ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีความตระหนี่
[71] บุคคลผู้ไม่โอ้อวด เป็นไฉน ในข้อนั้น ความโอ้อวด เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้โอ้อวดจัด ความโอ้อวด กิริยาที่
โอ้อวด ภาวะที่โอ้อวด ภาวะที่แข็งกระด้าง กิริยาที่แข้งกระด้าง การพูดเป็นเหลี่ยมคู
กิริยาที่พูดแอบอ้าง นี้เรียกว่า ความโอ้อวด บุคคลใดละความโอ้อวดนี้ได้ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ไม่โอ้อวด
[72] บุคคลผู้ไม่มีมายา เป็นไฉน ในข้อนั้น มายา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เพราะเหตุจะ
ปกปิดทุจริตนั้นจึงตั้งความปรารถนาอันเลวทราม ปรารถนาว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา”
ดำริว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” กล่าวว่า “ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” พยายามทางกายว่า
“ใคร ๆ อย่ารู้จักเรา” ความเจ้าเล่ห์ ความเป็นคนเจ้าเล่ห์ กิริยาที่หลอกให้หลง
ความหลอกลวง ความโกง ความกลบเกลื่อน ความหลีกเลี่ยง ความซ่อน
ความซ่อนบัง ความปิดบัง ความปกปิด การไม่ทำให้ชัดเจน การไม่ทำให้แจ่มแจ้ง
การปิดบังอำพราง กิริยาที่เลวทรามเช่นนี้ นี้เรียกว่า มายา บุคคลใดละมายานี้ได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ไม่มีมายา
[73] บุคคลผู้มีหิริ เป็นไฉน ในข้อนั้น หิริ เป็นไฉน
กิริยาที่ละอายต่อการประพฤติทุจริตที่ควรละอาย กิริยาที่ละอายต่อการ
ประกอบสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาป นี้เรียกว่า หิริ บุคคลผู้ประกอบด้วยหิริ
นี้ชื่อว่าผู้มีหิริ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :163 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 2. ทุกปุคคลบัญญัติ
[74] บุคคลผู้มีโอตตัปปะ เป็นไฉน ในข้อนั้น โอตตัปปะ เป็นไฉน
กิริยาที่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตที่ควรเกรงกลัว กิริยาที่เกรงกลัวต่อ
การประกอบสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาป นี้เรียกว่า โอตตัปปะ บุคคลผู้
ประกอบด้วยโอตตัปปะนี้ชื่อว่าผู้มีโอตตัปปะ
[75] บุคคลผู้ว่าง่าย เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้ว่าง่าย เป็นไฉน
กิริยาของผู้ว่าง่าย ภาวะของผู้ว่าง่าย ความเป็นผู้ว่าง่าย ความไม่ยึดถือข้าง
ขัดขืน ความพอใจในการไม่โต้แย้ง ความเอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งผู้เอื้อเฟื้อ ความเคารพ
และรับฟังในเมื่อถูกว่ากล่าวโดยชอบ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ว่าง่าย บุคคลผู้
ประกอบด้วยความเป็นผู้ว่าง่ายนี้ชื่อว่าผู้ว่าง่าย
[76] บุคคลผู้มีมิตรดี เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นไฉน
บุคคลผู้มีศรัทธา มีศีล สดับมามาก มีความเสียสละ มีปัญญา การเสพ
การส้องเสพ การส้องเสพด้วยดี การคบ การคบหา ความภักดี ความจงรักภักดี
ต่อบุคคลเหล่านั้น ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลเหล่านั้น นี้เรียกว่า
ความเป็นผู้มีมิตรดี บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีมิตรดีนี้ชื่อว่าผู้มีมิตรดี
[77] บุคคลผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้คุ้ม
ครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นรูปทางตาแล้วไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติ
เพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็เป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมทั้งหลายคือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมระวังจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมจักขุนทรีย์
ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้อง
โผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้ธรรมารมณ์ทางใจ เป็นผู้ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อม
ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม
ทั้งหลายคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ย่อมระวังมนินทรีย์ ย่อมถึงความ
สำรวมในมนินทรีย์ ความคุ้มครอง กิริยาที่คุ้มครอง การรักษา การสำรวมอินทรีย์
ทั้ง 6 เหล่านี้ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ บุคคลผู้ประกอบ
ด้วยความเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ นี้ชื่อว่าผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :164 }