เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 2. ทุกปุคคลบัญญัติ
[54] บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความไม่มีโอตตัปปะ
เป็นไฉน
กิริยาที่ไม่เกรงกลัวต่อการประพฤติทุจริตที่ควรเกรงกลัว กิริยาที่ไม่เกรงกลัว
ต่อการประกอบสภาวธรรมที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นบาป นี้เรียกว่า ความไม่มีโอตตัปปะ
บุคคลผู้ประกอบด้วยความไม่มีโอตตัปปะนี้ชื่อว่าผู้ไม่มีโอตตัปปะ
[55] บุคคลผู้ว่ายาก เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้ว่ายาก เป็นไฉน
กิริยาของผู้ว่ายาก ภาวะของผู้ว่ายาก ความเป็นผู้ว่ายาก ความยึดถือข้าง
ขัดขืน ความพอใจการโต้แย้ง ความไม่เอื้อเฟื้อ ภาวะแห่งผู้ไม่เอื้อเฟื้อ ความไม่
เคารพและไม่รับฟังในเมื่อถูกว่ากล่าวโดยชอบ นี้เรียกว่า ความเป็นผู้ว่ายาก
บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้ว่ายากนี้ชื่อว่าผู้ว่ายาก
[56] บุคคลผู้มีมิตรชั่ว เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว เป็นไฉน
บุคคลผู้ไม่มีศรัทธา ทุศีล สดับมาน้อย มีความตระหนี่ มีปัญญาทราม
การเสพ การส้องเสพ การส้องเสพด้วยดี การคบ การคบหา ความภักดี
ความจงรักภักดีต่อบุคคลเหล่านั้น ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลเหล่านั้น
นี้เรียกว่า ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว บุคคลผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้มีมิตรชั่วนี้ชื่อว่า
ผู้มีมิตรชั่ว
[57] บุคคลผู้ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความเป็นผู้
ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เห็นรูปทางตาแล้วรวบถือ1 แยกถือ2 ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อ
สำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็เป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรมทั้งหลายคืออภิชฌา

เชิงอรรถ :
1 รวบถือ ในที่นี้หมายถึงการมองภาพด้านเดียว คือมองภาพรวมโดยเห็นเป็นหญิงหรือเป็นชาย เช่น
เห็นว่ารูปสวย เสียงไพเราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่อ่อนนุ่ม เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาด้วย
อำนาจฉันทราคะ (อภิ.สงฺ.อ. 1352/456-7)
2 แยกถือ ในที่นี้หมายถึงการมองภาพ 2 ด้าน คือมองแยกแยะเป็นส่วน ๆ ไปด้วยอำนาจกิเลส เช่น
เห็นมือเท้าว่าสวยหรือไม่สวย เห็นอาการยิ้มแย้ม หัวเราะ การพูด การเหลียวซ้ายแลขวาว่าน่ารักหรือ
ไม่น่ารัก ถ้าเห็นว่าสวยน่ารักก็เกิดอารมณ์ที่น่าปรารถนา ถ้าเห็นว่าไม่สวยไม่น่ารักก็เกิดอารมณ์ที่ไม่น่า
ปรารถนา (อภิ.สงฺ.อ. 1352/456-7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :159 }