เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 1. เอกกปุคคลบัญญัติ
[39] บุคคลผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 ประการสิ้นไป เป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา บุคคล
นั้นยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นโดยต้องใช้ความพยายามมากเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นสสังขารปรินิพพายี
[40] บุคคลผู้เป็นอุทธังโสโตอกนิฏฐคามี เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำทั้ง 5 ประการสิ้นไป เป็น
โอปปาติกะ ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น ไม่กลับมาจากภพนั้นเป็นธรรมดา
บุคคลนั้นจุติจากอวิหาภพแล้วไปสู่ชั้นอตัปปาภพ จุติจากชั้นอตัปปาภพแล้วไปสู่ชั้น
สุทัสสาภพ จุติจากชั้นสุทัสสาภพแล้วไปสู่ชั้นสุทัสสีภพ จุติจากชั้นสุทัสสีภพแล้ว
ไปสู่ชั้นอกนิฏฐภพ ยังอริยมรรคให้เกิดขึ้นในชั้นอกนิฏฐภพเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูง
บุคคลนี้เรียกว่า อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี
[41] บุคคลผู้เป็นโสดาบันและบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
เป็นไฉน
บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละสังโยชน์ 3 ชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล
บุคคลใดละสังโยชน์ 3 ได้แล้ว บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโสดาบัน
[42] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบางชื่อว่าผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งสกทาคามิผล บุคคลใดทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบาง บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้เป็นสกทาคามี
[43] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละกามราคะและพยาบาทโดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งอนาคามิผล บุคคลใดละกามราคะและพยาบาทได้โดยไม่เหลือ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้เป็นอนาคามี
[44] บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา
โดยไม่เหลือชื่อว่าผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งอรหัตตผล บุคคลใดละรูปราคะ อรูปราคะ
มานะ อุทธัจจะ และอวิชชาได้โดยไม่เหลือ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอรหันต์
เอกกนิทเทส จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :156 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 2. ทุกปุคคลบัญญัติ
2. ทุกปุคคลบัญญัติ
[45] บุคคลผู้มักโกรธ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความโกรธ เป็นไฉน
ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ภาวะที่โกรธ ความคิดประทุษร้าย กิริยาที่คิด
ประทุษร้าย ภาวะที่คิดประทุษร้าย ความคิดปองร้าย กิริยาที่คิดปองร้าย ภาวะ
ที่คิดปองร้าย ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความดุร้าย ความเกรี้ยวกราด
ความที่จิตไม่เบิกบาน นี้เรียกว่า ความโกรธ บุคคลใดยังละความโกรธนี้ไม่ได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มักโกรธ
[46] บุคคลผู้ผูกโกรธ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความผูกโกรธ เป็นไฉน
ความโกรธในเบื้องต้นชื่อว่าความโกรธ ความโกรธในเวลาต่อมาชื่อว่าความ
ผูกโกรธ ความผูกโกรธ กิริยาที่ผูกโกรธ ภาวะที่ผูกโกรธ ความไม่หยุดโกรธ
การตั้งความโกรธไว้ การดำรงความโกรธไว้ การโผลงไปตามความโกรธ การตาม
ผูกความโกรธไว้ การทำความโกรธให้มั่น นี้เรียกว่า ความผูกโกรธ บุคคลใดยัง
ละความผูกโกรธนี้ไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้ผูกโกรธ
[47] บุคคลผู้มักลบหลู่ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความลบหลู่ เป็นไฉน
ความลบหลู่ กิริยาที่ลบหลู่ ภาวะที่ลบหลู่ ความดูหมิ่น การกระทำความ
ดูหมิ่น นี้เรียกว่า ความลบหลู่ บุคคลใดยังละความลบหลู่นี้ไม่ได้ บุคคลนี้เรียกว่า
ผู้มักลบหลู่
[48] บุคคลผู้ตีเสมอ เป็นไฉน ในข้อนั้น ความตีเสมอ เป็นไฉน
ความตีเสมอ กิริยาที่ตีเสมอ ภาวะที่ตีเสมอ สภาวธรรมที่เป็นอาหารแห่ง
ความตีเสมอโดยนำเอาชัยชนะของตนมาอ้างเหตุแห่งความวิวาท ความแข่งดี
ความไม่ยอมสละ นี้เรียกว่า ความตีเสมอ บุคคลใดยังละความตีเสมอนี้ไม่ได้ บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้ตีเสมอ
[49] บุคคลผู้มีความริษยา เป็นไฉน ในข้อนั้น ความริษยา เป็นไฉน
ความริษยา กิริยาที่ริษยา ภาวะที่ริษยา ความเกลียดชัง กิริยาที่เกลียดชัง
ภาวะที่เกลียดชังในเมื่อผู้อื่นได้ลาภ สักการะ ความเคารพ ความนับถือ การ
กราบไหว้ และการบูชา นี้เรียกว่า ความริษยา บุคคลใดยังละความริษยานี้ไม่ได้
บุคคลนี้เรียกว่า ผู้มีความริษยา


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :157 }