เมนู

พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 1. เอกกปุคคลบัญญัติ
[5] บุคคลผู้เป็นปริหานธรรม เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์
แต่บุคคลนั้นมิใช่ได้ตามที่ต้องการ มิใช่ได้โดยไม่ยาก มิใช่ได้โดยไม่ลำบาก มิใช่
จะเข้าหรือออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตาม
กำหนดเวลาที่ต้องการ ข้อที่บุคคลนั้นจะพึงเสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้นเพราะอาศัย
ความประมาท นั่นเป็นฐานะที่จะมีได้ บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นปริหานธรรม
[6] บุคคลผู้เป็นอปริหานธรรม เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์
และบุคคลนั้นเป็นผู้ได้ตามที่ต้องการ ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก จะเข้าหรือ
ออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ ตามกำหนดเวลา
ที่ต้องการ ข้อที่บุคคลนั้นจะพึงเสื่อมจากสมาบัตินั้นเพราะอาศัยความประมาท นั่น
มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาส บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอปริหานธรรม พระอริยบุคคลแม้
ทั้งหมดก็ชื่อว่าผู้เป็นอปริหานธรรมในอริยวิโมกข์
[7] บุคคลผู้เป็นเจตนาภัพพะ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์
แต่บุคคลนั้นมิใช่จะได้ตามที่ต้องการ มิใช่จะได้โดยไม่ยาก มิใช่จะได้โดยไม่ลำบาก
มิใช่จะเข้าหรือออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ
ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ ถ้าตามใส่ใจ1 ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น ถ้าไม่
ตามใส่ใจ ย่อมเสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นเจตนาภัพพะ
[8] บุคคลผู้เป็นอนุรักขนาภัพพะ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้มีปกติได้สมาบัติมีรูปเป็นอารมณ์หรือมีอรูปเป็นอารมณ์
แต่บุคคลนั้นมิใช่จะได้ตามที่ต้องการ มิใช่จะได้โดยไม่ยาก มิใช่จะได้โดยไม่ลำบาก
มิใช่จะเข้าสมาบัติหรือออกจากสมาบัติได้ตามโอกาสที่ต้องการ ตามสมาบัติที่ต้องการ
ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ ถ้าตามรักษา ย่อมไม่เสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น ถ้า
ไม่ตามรักษา ย่อมเสื่อมจากสมาบัติเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นอนุรักขนาภัพพะ

เชิงอรรถ :
1 ตามใส่ใจในที่นี้หมายถึงเข้าสมาบัติเนือง ๆ (อภิ.ปญฺจ.อ. 7/40)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :150 }


พระอภิธรรมปิฎก ปุคคลบัญญัติ 1. เอกกปุคคลบัญญัติ
[9] บุคคลผู้เป็นปุถุชน เป็นไฉน
บุคคลใดยังละสังโยชน์ 3 ไม่ได้และไม่ปฏิบัติเพื่อละสภาวธรรมเหล่านั้น บุคคล
นี้เรียกว่า ผู้เป็นปุถุชน
[10] บุคคลผู้เป็นโคตรภู เป็นไฉน
การก้าวลงสู่อริยธรรมมีในลำดับแห่งสภาวธรรมเหล่าใด บุคคลผู้ประกอบด้วย
สภาวธรรมเหล่านั้น บุคคลนี้เรียกว่า ผู้เป็นโคตรภู
[11] บุคคลผู้เป็นภยูปรตะ เป็นไฉน
พระเสขะ 7 จำพวกและปุถุชนผู้มีศีลชื่อว่าผู้เป็นภยูปรตะ พระอรหันต์ชื่อว่า
ผู้เป็นอภยูปรตะ
[12] บุคคลผู้เป็นอภัพพาคมนะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม1 เครื่องกั้นคือกิเลส2 เครื่องกั้นคือ
วิบาก3 เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีฉันทะ มีปัญญาทราม โง่เขลา ไม่ควรหยั่งลงสู่
นิยาม4ที่ถูกต้องในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้เป็นอภัพพาคมนะ
[13] บุคคลผู้เป็นภัพพาคมนะ เป็นไฉน
บุคคลผู้ไม่ประกอบด้วยเครื่องกั้นคือกรรม เครื่องกั้นคือกิเลส เครื่องกั้นคือ
วิบาก เป็นผู้มีศรัทธา มีฉันทะ มีปัญญา ไม่โง่เขลา ควรหยั่งลงสู่นิยามที่ถูกต้อง
ในกุศลธรรมทั้งหลาย บุคคลเหล่านี้เรียกว่า ผู้เป็นภัพพาคมนะ

เชิงอรรถ :
1 กรรม ในที่นี้หมายถึงอนันตริยกรรม 5 คือ (1) ฆ่ามารดา (2) ฆ่าบิดา (3) ฆ่าพระอรหันต์ (4) ทำร้าย
พระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต (5) ทำสงฆ์ให้แตกกัน (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)
2 กิเลสในที่นี้หมายถึงนิยตมิจฉาทิฏฐิ (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)
3 วิบากในที่นี้หมายถึงอเหตุกปฏิสนธิ ได้แก่ ปฏิสนธิที่ปราศจากกุศลเหตุ 3 ประการ คือ อโลภะ อโทสะ
และอโมหะ ได้แก่ ปฏิสนธิของสัตว์ดิรัจฉาน และทุกเหตุกปฏิสนธิ หมายถึงปฎิสนธิที่ปราศจากอโมหเหตุ
ได้แก่ ปฏิสนธิของมนุษย์บางจำพวก เช่น พวกที่บอด ใบ้ มาแต่กำเนิด (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)
4 นิยาม ในที่นี้หมายถึงมรรค (อภิ.ปญฺจ.อ. 12/42)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 36 หน้า :151 }