เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [18.ธัมมหทยวิภังค์] 5.ภูมันตรทัสสนวาร
สภาวธรรมที่ไม่เป็นกามาวจร เป็นไฉน
สภาวธรรมที่เป็นรูปาวจร ที่เป็นอรูปาวจร ที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาว-
ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่เป็นกามาวจร
สภาวธรรมที่เป็นรูปาวจร เป็นไฉน
สภาวธรรมคือจิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ ผู้เกิดในรูปภูมิ หรือ
พระอรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ที่ท่องเที่ยวอยู่ในภูมินี้ นับเนื่องในภูมินี้ ใน
ระหว่างนี้คือ เบื้องล่างกำหนดเอาพรหมโลกเป็นที่สุด (ชั้นพรหมปาริสัชชา) เบื้อง
บนกำหนดเอาพรหมชั้นอกนิฏฐภพเป็นที่สุด สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นรูปาวจร
สภาวธรรมที่ไม่เป็นรูปาวจร เป็นไฉน
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร ที่เป็นอรูปาวจร ที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาว-
ธรรมเหล่านี้ชื่อว่าไม่เป็นรูปาวจร
สภาวธรรมที่เป็นอรูปาวจร เป็นไฉน
สภาวธรรมคือจิตและเจตสิกของบุคคลผู้เข้าสมาบัติ ผู้เกิดในอรูปภูมิ หรือ
พระอรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ที่ท่องเที่ยวอยู่ในภูมินี้ นับเนื่องในภูมินี้ ใน
ระหว่างนี้ คือ เบื้องล่างกำหนดเอาพรหมผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนภพเป็นที่สุด
เบื้องบนกำหนดเอาเหล่าพรหมผู้เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพเป็น ที่สุด
สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่าเป็นอรูปาวจร
สภาวธรรมที่ไม่เป็นอรูปาวจร เป็นไฉน
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร ที่เป็นรูปาวจร ที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ สภาว-
ธรรม เหล่านี้ชื่อว่าไม่เป็นอรูปาวจร
สภาวธรรมที่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ เป็นไฉน
สภาวธรรมคือกุศล อกุศล และอัพยากฤตที่เป็นอารมณ์ของอาสวะ
สภาวธรรมที่เป็นกามาวจร สภาวธรรมที่เป็นรูปาวจร สภาวธรรมที่เป็นอรูปาวจร
ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ สภาวธรรม
เหล่านี้ชื่อว่านับเนื่องในวัฏฏทุกข์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :668 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [18.ธัมมหทยวิภังค์] 6. อุปปาทกกัมมอายุปปมาณวาร 1. อุปปาทกกรรม
สภาวธรรมที่ไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์ เป็นไฉน
มรรค ผลแห่งมรรค ธาตุที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่ง (นิพพาน) สภาวธรรมเหล่านี้ชื่อ
ว่าไม่นับเนื่องในวัฏฏทุกข์

6. อุปปาทกกัมมอายุปปมาณวาร
(วาระว่าด้วยกรรมเป็นเหตุให้เกิดและประมาณอายุของสัตว์)
1. อุปปาทกกรรม
(กรรมเป็นเหตุให้เกิด)
[1021] ที่ชื่อว่า เทวดา ได้แก่
เทวดา 3 จำพวก คือ
1. สมมติเทวดา (เทวดาโดยสมมติ)
2. อุปปัตติเทวดา (เทวดาโดยอุบัติ)
3. วิสุทธิเทวดา (เทวดาโดยความบริสุทธิ์)
พระราชา พระราชเทวี พระราชกุมาร1 เรียกว่า สมมติเทวดา
เทวดาเบื้องบนนับแต่เทวดาชั้นจาตุมหาราชขึ้นไปเรียกว่า อุปปัตติเทวดา
พระอรหันต์ทั้งหลายเรียกว่า วิสุทธิเทวดา
พวกมนุษย์ผู้ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถแล้วไปเกิดที่ไหน
พวกมนุษย์ให้ทาน สมาทานศีล รักษาอุโบสถแล้ว บางพวกไปเกิดเป็นสหาย
ของกษัตริย์มหาศาล บางพวกไปเกิดเป็นสหายของพราหมณ์มหาศาล บางพวกไป
เกิดเป็นสหายของคฤหบดีมหาศาล บางพวกไปเกิดเป็นสหายของเทวดาชั้นจาตุ-
มหาราช บางพวกไปเกิดเป็นสหายของเทวดาชั้นดาวดึงส์ บางพวกไปเกิดเป็น
สหายของเทวดาชั้นยามา บางพวกไปเกิดเป็นสหายของเทวดาชั้นดุสิต บางพวก
ไปเกิดเป็นสหายของเทวดาชั้นนิมมานรดี บางพวกไปเกิดเป็นสหายของเทวดาชั้น
ปรนิมมิตวสวัตตี

เชิงอรรถ :
1 อภิ.วิ.อ. 1021/565

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :669 }