เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 4.จตุกกนิทเทส
วิปริเยสะ 4 เป็นไฉน
การแสวงหาผิดด้วยอำนาจความเข้าใจ ความคิด และความเห็นว่าเที่ยงใน
สิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นตัวตนในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน และว่า
งามในสิ่งที่ไม่งาม นี้ชื่อว่าวิปริเยสะ 4 (8)
อนริยโวหาร 4 เป็นไฉน
อนริยโวหาร 4 คือ

1. เรื่องที่ไม่เห็นพูดว่าเห็น 2. เรื่องที่ไม่ได้ยินพูดว่าได้ยิน
3. เรื่องที่ไม่รู้พูดว่ารู้ 4. เรื่องที่ไม่รู้แจ้งพูดว่ารู้แจ้ง

เหล่านี้เรียกว่า อนริยโวหาร 4 (9)
อนริยโวหาร 4 อีกนัยหนึ่ง เป็นไฉน
อนริยโวหาร 4 อีกนัยหนึ่ง คือ

1. เรื่องที่เห็นพูดว่าไม่เห็น 2. เรื่องที่ได้ยินพูดว่าไม่ได้ยิน
3. เรื่องที่รู้พูดว่าไม่รู้ 4. เรื่องที่รู้แจ้งพูดว่าไม่รู้แจ้ง

เหล่านี้เรียกว่า อนริยโวหาร 4 (10)
ทุจริต 4 เป็นไฉน
ทุจริต 4 คือ
1. ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) 2. อทินนาทาน (ลักทรัพย์)
3. กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม)
4. มุสาวาท (พูดเท็จ)
เหล่านี้เรียกว่า ทุจริต 4 (11)
ทุจริต 4 อีกนัยหนึ่ง เป็นไฉน
ทุจริต 4 อีกนัยหนึ่ง คือ

1. มุสาวาท (พูดเท็จ) 2. ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด)
3. ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) 4. สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)

เหล่านี้เรียกว่า ทุจริต 4 (12)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :590 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 4.จตุกกนิทเทส
ภัย 4 เป็นไฉน
ภัย 4 คือ

1. ชาติภัย (ภัยที่เกิดเพราะอาศัยชาติ)
2. ชราภัย (ภัยที่เกิดเพราะอาศัยชรา)
3. พยาธิภัย (ภัยที่เกิดเพราะอาศัยพยาธิ)
4. มรณภัย (ภัยที่เกิดเพราะอาศัยความตาย)

เหล่านี้เรียกว่า ภัย 4 (13)
ภัย 4 อีกนัยหนึ่ง เป็นไฉน
ภัย 4 คือ

1. ราชภัย (ภัยเกิดแต่พระราชา)
2. โจรภัย (ภัยเกิดแต่โจร)
3. อัคคิภัย (ภัยเกิดแต่ไฟ)
4. อุทกภัย (ภัยเกิดแต่น้ำท่วม)

เหล่านี้เรียกว่า ภัย 4 (14)
ภัย 4 อีกนัยหนึ่ง เป็นไฉน
ภัย 4 คือ

1. อูมิภัย (ภัยเกิดแต่คลื่น)
2. กุมภีลภัย (ภัยเกิดแต่จระเข้)
3. อาวัฏฏภัย (ภัยเกิดแต่น้ำวน)
4. สุสุกาภัย (ภัยเกิดแต่ปลาร้าย)

เหล่านี้เรียกว่า ภัย 4 (15)
ภัย 4 อีกนัยหนึ่ง เป็นไฉน
ภัย 4 คือ

1. อัตตานุวาทภัย (ภัยเกิดจากการติเตียนตนเอง)
2. ปรานุวาทภัย (ภัยเกิดจากการถูกผู้อื่นติเตียน)
3. ทัณฑภัย (ภัยเกิดจากการถูกลงอาชญา)
4. ทุคคติภัย (ภัยเกิดจากทุคติ)

เหล่านี้เรียกว่า ภัย 4 (16)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :591 }