เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 4.จตุกกนิทเทส
สีลัพพตุปาทาน เป็นไฉน
สมณพราหมณ์ภายนอกแต่ศาสนานี้ มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีล
ด้วยพรต ด้วยศีลและพรต ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดย
วิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน
อัตตวาทุปาทาน เป็นไฉน
ปุถุชนในโลกนี้ผู้มีสุตะน้อย ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมพิจารณาเห็นรูปเป็นตน
หรือเห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน หรือเห็นตนในรูป เห็นเวทนาเป็นตน ฯลฯ เห็น
สัญญาเป็นตน ฯลฯ เห็นสังขารเป็นตน ฯลฯ เห็นวิญญาณเป็นตน หรือย่อม
พิจารณาเห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ ดังนี้
ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า
อัตตวาทุปาทาน
เหล่านี้ชื่อว่าอุปาทาน 4 (5)
[939] ตัณหุปาทาน เป็นไฉน
ตัณหาเมื่อเกิดแก่ภิกษุ ย่อมเกิดเพราะจีวรเป็นเหตุ เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ
เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ หรือเพราะคิลานปัจจัยอันมีน้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย
เป็นต้นที่ประณีตและประณีตยิ่งด้วยประการฉะนี้เป็นเหตุ
เหล่านี้เรียกว่า ตัณหุปาทาน (6)
อคติคมนะ 4 เป็นไฉน
บุคคลย่อมถึงความลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เพราะเกลียดชัง เพราะเขลา
เพราะกลัว
ความลำเอียง การถึงความลำเอียง การลำเอียงเพราะรักใคร่กัน ความ
ลำเอียงเพราะเป็นพรรคพวกกัน ความหันเหไปเหมือนน้ำไหล มีลักษณะเช่นว่านี้
เหล่านี้เรียกว่า อคติคมนะ 4 (7)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :589 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 4.จตุกกนิทเทส
วิปริเยสะ 4 เป็นไฉน
การแสวงหาผิดด้วยอำนาจความเข้าใจ ความคิด และความเห็นว่าเที่ยงใน
สิ่งที่ไม่เที่ยง ว่าเป็นสุขในสิ่งที่เป็นทุกข์ ว่าเป็นตัวตนในสิ่งที่ไม่เป็นตัวตน และว่า
งามในสิ่งที่ไม่งาม นี้ชื่อว่าวิปริเยสะ 4 (8)
อนริยโวหาร 4 เป็นไฉน
อนริยโวหาร 4 คือ

1. เรื่องที่ไม่เห็นพูดว่าเห็น 2. เรื่องที่ไม่ได้ยินพูดว่าได้ยิน
3. เรื่องที่ไม่รู้พูดว่ารู้ 4. เรื่องที่ไม่รู้แจ้งพูดว่ารู้แจ้ง

เหล่านี้เรียกว่า อนริยโวหาร 4 (9)
อนริยโวหาร 4 อีกนัยหนึ่ง เป็นไฉน
อนริยโวหาร 4 อีกนัยหนึ่ง คือ

1. เรื่องที่เห็นพูดว่าไม่เห็น 2. เรื่องที่ได้ยินพูดว่าไม่ได้ยิน
3. เรื่องที่รู้พูดว่าไม่รู้ 4. เรื่องที่รู้แจ้งพูดว่าไม่รู้แจ้ง

เหล่านี้เรียกว่า อนริยโวหาร 4 (10)
ทุจริต 4 เป็นไฉน
ทุจริต 4 คือ
1. ปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) 2. อทินนาทาน (ลักทรัพย์)
3. กาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม)
4. มุสาวาท (พูดเท็จ)
เหล่านี้เรียกว่า ทุจริต 4 (11)
ทุจริต 4 อีกนัยหนึ่ง เป็นไฉน
ทุจริต 4 อีกนัยหนึ่ง คือ

1. มุสาวาท (พูดเท็จ) 2. ปิสุณวาจา (พูดส่อเสียด)
3. ผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) 4. สัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)

เหล่านี้เรียกว่า ทุจริต 4 (12)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :590 }