เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 4.จตุกกนิทเทส
เจตโสวิกเขปะ เป็นไฉน
ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความซัดส่ายแห่งจิต ความพล่าน
ไปแห่งจิต นี้เรียกว่า เจตโสวิกเขปะ (34)
[936] อโยนิโสมนสิการ เป็นไฉน
ความไม่ใส่ใจโดยแยบคายในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ความไม่ใส่ใจโดยแยบคายใน
สิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ความไม่ใส่ใจโดยแยบคายในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน
ความไม่ใส่ใจโดยแยบคายในสิ่งที่ไม่งามว่างาม หรือความนึก ความนึกเนือง ๆ
ความคำนึง ความพิจารณา ความใคร่ครวญแห่งจิตโดยผิดจากความจริง นี้เรียกว่า
อโยนิโสมนสิการ
กุมมัคคเสวนา เป็นไฉน
บรรดาสภาวธรรมเหล่านั้น กุมมัคคะ เป็นไฉน
มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ
มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ นี้เรียกว่า กุมมัคคะ
การเสพ การเสพเป็นนิตย์ การเสพด้วยดี การคบ การคบด้วยดี ความภักดี
ความจงรักภักดี ความเป็นผู้โน้มน้าวไปตามทางผิด นี้เรียกว่า กุมมัคคเสวนา
เจตโสลีนัตตะ เป็นไฉน
ความที่จิตไม่คล่องแคล่ว ไม่ควรแก่การงาน ความท้อแท้ ความท้อถอย
ความย่อหย่อน กิริยาที่ย่อหย่อน ภาวะที่ย่อหย่อน ความซึมเซา กิริยาที่ซึมเซา
ภาวะที่จิตซึมเซา นี้เรียกว่า เจตโสลีนัตตะ (35)
ติกนิทเทส จบ

4. จตุกกนิทเทส
[937] บรรดาจตุกกมาติกาเหล่านั้น อาสวะ 4 เป็นไฉน
อาสวะ 4 คือ
1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม) 2. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
3. ทิฏฐาสวะ (อาสวะคือทิฏฐิ) 4. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :586 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 4.จตุกกนิทเทส
บรรดาอาสวะ 4 นั้น กามาสวะ เป็นไฉน
ความพอใจในกาม ฯลฯ ความหมกมุ่นในกาม นี้เรียกว่า กามาสวะ
ภวาสวะ เป็นไฉน
ความพอใจในภพ ฯลฯ ความหมกมุ่นในภพ นี้เรียกว่า ภวาสวะ
ทิฏฐาสวะ เป็นไฉน
ความเห็นว่า โลกเที่ยง ฯลฯ หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ จะ
ว่าไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้
นี้เรียกว่า ทิฏฐาสวะ
มิจฉาทิฏฐิแม้ทั้งหมดชื่อว่าทิฏฐาสวะ
อวิชชาสวะ เป็นไฉน
ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้เรียกว่า อวิชชาสวะ
เหล่านี้ชื่อว่าอาสวะ 4 (1)
[938] คันถะ 4 เป็นไฉน
คันถะ 4 คือ
1. อภิชฌากายคันถะ 2. พยาบาทกายคันถะ
3. สีลัพพตปรามาสกายคันถะ 4. อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ
บรรดาคันถะ 4 นั้น อภิชฌากายคันถะ เป็นไฉน
ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ฯลฯ ความเพ่งเล็ง อกุศลมูลคือโลภะ นี้
เรียกว่า อภิชฌากายคันถะ
พยาปาทกายคันถะ เป็นไฉน
ความอาฆาตเกิดขึ้นว่า ผู้นี้ได้ทำความเสื่อมเสียแก่เรา ฯลฯ ความดุร้าย
ความเกรี้ยวกราด ความที่จิตไม่เบิกบาน นี้เรียกว่า พยาปาทกายคันถะ
สีลัพพตปรามาสกายคันถะ เป็นไฉน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :587 }