เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 3.ติกนิทเทส
มโนทุจริต เป็นไฉน
อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ นี้เรียกว่า มโนทุจริต
กายทุจริต เป็นไฉน
กายกรรมที่เป็นอกุศลชื่อว่ากายทุจริต วจีกรรมที่เป็นอกุศลชื่อว่าวจีทุจริต
มโนกรรมที่เป็นอกุศลชื่อว่ามโนทุจริต
บรรดาทุจริต 3 นั้น กายกรรมที่เป็นอกุศล เป็นไฉน
กายสัญเจตนาที่เป็นอกุศลชื่อว่ากายกรรมที่เป็นอกุศล วจีสัญเจตนาที่เป็นอกุศล
ชื่อว่าวจีกรรมที่เป็นอกุศล มโนสัญเจตนาที่เป็นอกุศลชื่อว่ามโนกรรมที่เป็นอกุศล
เหล่านี้ชื่อว่าทุจริต 3 (5)
[914] อาสวะ 3 เป็นไฉน
อาสวะ 3 คือ

1. กามาสวะ (อาสวะคือกาม)
2. ภวาสวะ (อาสวะคือภพ)
3. อวิชชาสวะ (อาสวะคืออวิชชา)

บรรดาอาสวะ 3 นั้น กามาสวะ เป็นไฉน
ความพอใจในกาม ความกำหนัดในกาม ความเพลิดเพลินในกาม ความ
อยากในกาม ความเยื่อใยในกาม ความเร่าร้อนเพราะกาม ความสยบในกาม
ความหมกมุ่นในกาม นี้เรียกว่า กามาสวะ
ภวาสวะ เป็นไฉน
ความพอใจในภพ ฯลฯ ความหมกมุ่นในภพ ในภพทั้งหลาย นี้เรียกว่า
ภวาสวะ
อวิชชาสวะ เป็นไฉน
ความไม่รู้ในทุกข์ ฯลฯ ลิ่มคืออวิชชา อกุศลมูลคือโมหะ นี้เรียกว่า อวิชชาสวะ
เหล่านี้ชื่อว่าอาสวะ 3 (6)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :571 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 3.ติกนิทเทส
[915] สังโยชน์ 3 เป็นไฉน
สังโยชน์ 3 คือ

1. สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน)
2. วิจิกิจฉา (ความสงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ)
3. สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลพรต)

บรรดาสังโยชน์ 3 นั้น สักกายทิฏฐิ เป็นไฉน
ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ
ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของ
สัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมพิจารณาเห็นรูปเป็นตนหรือ
เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตนหรือเห็นตนในรูป ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาเป็นตน ฯลฯ
เห็นสัญญาเป็นตน ฯลฯ เห็นสังขารเป็นตน ฯลฯ เห็นวิญญาณเป็นตนหรือ
พิจารณาเห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตนหรือเห็นตนในวิญญาณ ทิฏฐิ ความ
เห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดยวิปลาส มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า สักกายทิฏฐิ
วิจิกิจฉา เป็นไฉน
ปุถุชนเคลือบแคลงสงสัยในพระศาสดา ย่อมเคลือบแคลงสงสัยในพระธรรม
ย่อมเคลือบแคลงสงสัยในพระสงฆ์ ย่อมเคลือบแคลงสงสัยในสิกขา ย่อมเคลือบ
แคลงสงสัยในส่วนอดีต ย่อมเคลือบแคลงสงสัยในส่วนอนาคต ย่อมเคลือบแคลง
สงสัยในส่วนอดีตและส่วนอนาคต ย่อมเคลือบแคลงสงสัยในสภาวธรรมที่เป็น
ปัจจัยของกันและกันและอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ความเคลือบแคลง กิริยาที่
เคลือบแคลง ภาวะที่เคลือบแคลง ความกระด้างแห่งจิต ความลังเลใจ มีลักษณะ
เช่นว่านี้ นี้เรียกว่า วิจิกิจฉา
สีลัพพตปรามาส เป็นไฉน
สมณพราหมณ์ภายนอกแต่ศาสนานี้ มีความเห็นว่า ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีล
ด้วยพรต ด้วยศีลและพรต ดังนี้ ทิฏฐิ ความเห็นผิด ฯลฯ ความยึดถือโดยวิปลาส
มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า สีลัพพตปรามาส
เหล่านี้ชื่อว่าสังโยชน์ 3 (7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :572 }