เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 1.เอกกนิทเทส
[850] มหิจฉตา เป็นไฉน
ความอยากได้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปของภิกษุผู้ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร หรือด้วยกามคุณ 5 ตามมีตามได้ ความอยากได้
ความปรารถนา ความอยากได้เกินประมาณ ความกำหนัด ความกำหนัดนัก
ความกำหนัดนักแห่งจิต มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า มหิจฉตา (33)
[851] ปาปิจฉตา เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธาปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า
เป็นผู้มีศรัทธา เป็นผู้ทุศีลปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้มีศีล
เป็นผู้มีสุตะน้อยปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้มีสุตะมาก เป็นผู้
ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่ปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้ชอบสงัด
เป็นผู้เกียจคร้านปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้บำเพ็ญเพียร
เป็นผู้มีสติหลงลืมปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้มีสติตั้งมั่น เป็นผู้
มีจิตไม่เป็นสมาธิปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้มีจิตเป็นสมาธิ เป็น
ผู้มีปัญญาทรามปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้ยังไม่
สิ้นอาสวะปรารถนาว่า ขอประชาชนจงเข้าใจเราว่า เป็นผู้สิ้นอาสวะ ความอยากได้
ความปรารถนา ความปรารถนาลามก ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความ
กำหนัดนักแห่งจิต มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ปาปิจฉตา1 (34)
[852] สิงคะ เป็นไฉน
ความยั่วยวน ความน่ารัก ความสวยสง่า ความเพริดพริ้ง ความมีเสน่ห์
ความไฉไล นี้เรียกว่า สิงคะ (35)
[853] ตินติณะ เป็นไฉน
การพูดเกียดกัน กิริยาที่พูดเกียดกัน ภาวะที่พูดเกียดกัน ความละโมบ
กิริยาที่ละโมบ ภาวะที่ละโมบ ความถ่อมตนเพื่อที่จะได้ ความต้องการสิ่งที่ประณีต
นี้เรียกว่า ตินติณะ (36)

เชิงอรรถ :
1 ภาวะแห่งผู้ปรารถนาลามก ว่าโดยลักษณะ คือยกย่องคุณที่ไม่มีและไม่รู้จักประมาณในการรับ (อภิ.วิ.อ..
851/515)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :551 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17.ขุททกวัตถุวิภังค์] 1.เอกกนิทเทส
[854] จาปัลยะ เป็นไฉน
การตกแต่งจีวร การตกแต่งบาตร การตกแต่งเสนาสนะ การประดับร่างกาย
ที่เปื่อยเน่านี้ หรือบริขารภายนอก การประเทืองผิว การเล่นหัว ความร่าเริง
ความกำหนัดยินดี ภาวะที่กำหนัดยินดี การตกแต่ง กิริยาที่ชอบตกแต่ง นี้เรียกว่า
จาปัลยะ (37)
[855] อสภาควุตติ เป็นไฉน
ความไม่ประพฤติตาม ความประพฤติขัดขืน ความไม่เอื้อเฟื้อ ภาวะที่ไม่
เอื้อเฟื้อ ความไม่เคารพ ความไม่ยำเกรงในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้ที่ควรเคารพ เช่น
มารดาบิดา พี่ชาย พี่สาว อาจารย์ อุปัชฌาย์ พระพุทธเจ้า หรือพระสาวก
นี้เรียกว่า อสภาควุตติ (38)
[856] อรติ เป็นไฉน
ความไม่ยินดี กิริยาที่ไม่ยินดี ความไม่ยินดียิ่ง กิริยาที่ไม่ยินดียิ่ง ความ
รำคาญ ความกระวนกระวายใจในเสนาสนะที่สงัด หรือในสภาวธรรมที่เป็นอธิกุศล1
คือสมถะและวิปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่ง นี้เรียกว่า อรติ (39)
[857] ตันที เป็นไฉน
ความง่วงซึม กิริยาที่ง่วงซึม ภาวะที่ง่วงซึม ความเกียจคร้าน กิริยาที่
เกียจคร้าน ภาวะที่เกียจคร้าน นี้เรียกว่า ตันที2 (40)
[858] วิชัมภิตา เป็นไฉน
ความบิดกาย กิริยาที่บิดกาย การโน้มกายไปข้างหน้า การโน้มกายมาข้าง
หลัง การโน้มกายไปรอบ ๆ การตั้งกายให้สูงขึ้น ความไม่สำราญทางกาย นี้เรียกว่า
วิชัมภิตา (41)
[859] ภัตตสัมมทะ เป็นไฉน

เชิงอรรถ :
1 อภิ.วิ.อ. 856/517
2 หมายถึงเกียจคร้านโดยกำเนิด (อภิ.วิ.อ. 857/517)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :552 }