เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [16.ญาณวิภังค์] 10.ทสกนิทเทส
พระตถาคตในโลกนี้ทรงมีทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของสามัญมนุษย์ ทรง
เห็นสัตว์ผู้กำลังจุติ อุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณเลว ไปสุคติ ไปทุคติ
ย่อมทรงทราบเหล่าสัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ประกอบด้วยกาย-
ทุจริต ประกอบด้วยวจีทุจริต ประกอบด้วยมโนทุจริต กล่าวใส่ร้ายพระอริยะ เป็น
มิจฉาทิฏฐิ สมาทานมิจฉาทิฏฐิกรรม สัตว์เหล่านั้นหลังจากตายแล้วก็เข้าถึงอบาย
ทุคติ วินิบาต นรก หรือสัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต ประกอบด้วย
วจีสุจริต ประกอบด้วยมโนสุจริต ไม่กล่าวใส่ร้ายพระอริยะ เป็นสัมมาทิฏฐิ สมาทาน
สัมมาทิฏฐิกรรม สัตว์เหล่านั้นหลังจากตายแล้วจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ พระ
ตถาคตทรงมีทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงสามัญมนุษย์ ทรงเห็นเหล่าสัตว์ผู้กำลังจุติ
อุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณเลว ไปสุคติ ไปทุคติ ทรงทราบเหล่า
สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิในการจุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบการ
จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายตามความเป็นจริง (9)

10. อาสวักขยญาณ
(ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะ)
[831] พระตถาคตทรงทราบความสิ้นอาสวะตามความเป็นจริง เป็นไฉน
พระตถาคตในโลกนี้ทรงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติอันหาอาสวะมิได้
เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง เข้าถึงอยู่ในทิฏฐิธรรม
ด้วยอาการอย่างนี้
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิในความสิ้นอาสวะนั้น นี้ชื่อว่าพระตถาคตทรงทราบความสิ้นอาสวะตาม
ความเป็นจริง (10)

ญาณวิภังค์ จบบริบูรณ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :533 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [17. ขุททกวัตถุวิภังค์] 1. เอกกมาติกา
17. ขุททกวัตถุวิภังค์
1. เอกกมาติกา

[832] (1) ชาติมทะ (ความเมาเพราะอาศัยชาติ) (843)
(2) โคตตมทะ (ความเมาเพราะอาศัยโคตร) (844)
(3) อาโรคยมทะ (ความเมาในความไม่มีโรค) (844)
(4) โยพพนมทะ (ความเมาในความเป็นหนุ่มสาว) (844)
(5) ชีวิตมทะ (ความเมาในชีวิต) (844)
(6) ลาภมทะ (ความเมาในลาภ) (844)
(7) สักการมทะ (ความเมาในสักการะ) (844)
(8) ครุการมทะ (ความเมาในความเคารพ) (844)
(9) ปุเรกขารมทะ (ความเมาในความเป็นหัวหน้า) (844)
(10) ปริวารมทะ (ความเมาในบริวาร) (844)
(11) โภคมทะ (ความเมาในโภคสมบัติ) (844)
(12) วัณณมทะ (ความเมาเพราะอาศัยผิวพรรณและคุณความดี) (844)
(13) สุตมทะ (ความเมาในการการสดับตรับฟัง) (844)
(14) ปฏิภาณมทะ (ความเมาในปฏิภาณ) (844)
(15) รัตตัญญูมทะ (ความเมาในความเป็นผู้รัตตัญญู) (844)


(16) ปิณฑปาติกมทะ (ความเมาในการถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร) (844)
(17) อนวัญญาตมทะ ความเมาเพราะไม่ถูกใครดูหมิ่น (844)
(18) อิริยาปถมทะ ความเมาในอิริยาบถ (844)
(19) อิทธิมทะ ความเมาในฤทธิ์ (844)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :534 }