เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [16.ญาณวิภังค์] 10.ทสกนิทเทส
เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง โยคาวจรบุคคลจึง
บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดยบริกรรมว่าอะไร ๆ ก็ไม่มี ดังนี้อยู่ นี้ชื่อว่าวิโมกข์
ข้อที่ 6
เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง โยคาวจรบุคคลจึง
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ 7
เพราะก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง โยคาวจร-
บุคคลจึงบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ นี้ชื่อว่าวิโมกข์ข้อที่ 8
คำว่า สมาธิ ได้แก่ สมาธิ 3 คือ

1. สวิตักกสวิจารสมาธิ (สมาธิที่มีทั้งวิตกและวิจาร)
2. อวิตักกวิจารปัตตสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีวิตกมีเพียงวิจาร)
3. อวิตักกอวิจารสมาธิ (สมาธิที่ไม่มีทั้งวิตกและวิจาร)

คำว่า สมาบัติ ได้แก่ อนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 คือ

1. ปฐมฌานสมาบัติ 2. ทุติยฌานสมาบัติ
3. ตติยฌานสมาบัติ 4. จตุตถฌานสมาบัติ
5. อากาสานัญจายตนสมาบัติ 6. วิญญาณัญจายตนสมาบัติ
7. อากิญจัญญายตนสมาบัติ 8. เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
9. สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ1

บทว่า ความเศร้าหมอง ได้แก่ สภาวธรรมที่เป็นฝ่ายเสื่อม
บทว่า ความผ่องแผ้ว ได้แก่ สภาวธรรมที่เป็นฝ่ายคุณวิเศษ
บทว่า ความออก ได้แก่ แม้ความผ่องแผ้ว ก็ชื่อว่าความออก แม้ความ
ออกจากสมาธินั้น ๆ ก็ชื่อว่าความออก

เชิงอรรถ :
1 สัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ หมายถึงสมาบัติที่ดับสัญญาและเวทนามี 2 คือ อสัญญสมาบัติ และนิโรธ-
สมาบัติ ที่เป็นอสัญญสมาบัติมีแก่ปุถุชน ที่เป็นนิโรธสมาบัติ มีเฉพาะแต่พระอนาคามีและพระอรหันต์
ผู้ชำนาญในสมาบัติ 8 ข้างต้นแล้วเท่านั้นจึงจะเข้าได้ (อภิ.ปญฺจ.อ. 735/282)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :531 }