เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [16.ญาณวิภังค์] 10.ทสกนิทเทส
อินทรีย์อ่อน มีอาการดี มีอาการชั่ว แนะนำให้เข้าใจได้ง่าย แนะนำให้เข้าใจได้ยาก
ควรบรรลุธรรมและไม่ควรบรรลุธรรม
[815] อาสยะของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ความเห็นว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะเป็น
อย่างหนึ่ง สรีระก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ชีวะกับสรีระเป็นอย่างเดียวกัน ชีวะกับสรีระเป็น
คนละอย่างกัน หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีก หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีก
หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็ใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็ใช่ หลังจากตายแล้วตถาคต
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่ สัตว์ทั้งหลายผู้อาศัยภวทิฏฐิหรือวิภวทิฏฐิดัง
กล่าวมานี้ หรือสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่เข้าไปอาศัยที่สุดทั้ง 2 นี้ ได้อนุโลมิกขันติ1 ใน
สภาวธรรมทั้งหลายที่เป็นปัจจัยของกันและกันและอาศัยกันและกันเกิดขึ้นก็มี ญาณ
รู้ตามความเป็นจริง2 นี้ชื่อว่าอาสยะของสัตว์ทั้งหลาย
[816] อนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
อนุสัย 7 คือ

1. กามราคานุสัย (อนุสัยคือกามราคะ) 2. ปฏิฆานุสัย (อนุสัยคือปฏิฆะ)
3. มานานุสัย (อนุสัยคือมานะ) 4. ทิฏฐานุสัย (อนุสัยคือทิฏฐิ)
5. วิจิกิจฉานุสัย (อนุสัยคือวิจิกิจฉา) 6. ภวราคานุสัย (อนุสัยคือภวราคะ)
7. อวิชชานุสัย (อนุสัยคืออวิชชา)

ราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในปิยรูปสาตรูป3 ในโลก ปฏิฆานุสัย
ของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในอัปปิยรูปอสาตรูปในโลก อวิชชาตกไปใน
สภาวธรรมทั้ง 2 นี้ ด้วยอาการอย่างนี้ มานะ ทิฏฐิ และวิจิกิจฉา พึงเห็นว่าตั้ง
อยู่ในฐานะแห่งเดียวกันกับอวิชชานั้น นี้ชื่อว่าอนุสัยของสัตว์ทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 อนุโลมขันติ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ (อภิ.วิ.อ. 815/494)
2 ญาณรู้ตามความเป็นจริง ได้แก่ มรรคญาณ (อภิ.วิ.อ. 815/494)
3 สภาวะที่น่ารัก น่าชื่นใจ มุ่งเอาส่วนที่เป็นอิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหา (อภิ.วิ.อ. 816/495)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :526 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [16.ญาณวิภังค์] 10.ทสกนิทเทส
[817] จริตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
ปุญญาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งกรรมฝ่ายดี) อปุญญาภิสังขาร (สภาพที่
ปรุงแต่งกรรมฝ่ายชั่ว) อาเนญชาภิสังขาร (สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง) ที่
เป็นกามาวจรภูมิ หรือที่เป็นรูปาวจรภูมิและอรูปาวจรภูมิ นี้ชื่อว่าจริตของสัตว์
ทั้งหลาย
[818] อัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไฉน
สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็มี สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็มี
เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทรามย่อมคบหาสมาคมเข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม
เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตก็ย่อมคบหาสมาคมเข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต
แม้ในอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็ได้คบหาสมาคมเข้าไปหา
เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทรามมาแล้ว สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็ได้คบหา
สมาคมเข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีตมาแล้ว
แม้ในอนาคตกาล สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยทรามก็จักคบหาสมาคมเข้าไปหา
เหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยทราม สัตว์ทั้งหลายที่มีอัธยาศัยประณีตก็จักคบหาสมาคม
เข้าไปหาเหล่าสัตว์ที่มีอัธยาศัยประณีต นี้ชื่อว่าอัธยาศัยของสัตว์ทั้งหลาย
[819] สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุมาก เหล่านั้นเป็นไฉน
กิเลสวัตถุ 10 คือ

1. โลภะ (ความอยากได้) 2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)
3. โมหะ (ความหลง) 4. มานะ (ความถือตัว)
5. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) 6. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
7. ถีนะ (ความท้อแท้) 8. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)
9. อหิริกะ (ความไม่ละอาย) 10. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัว)

กิเลสวัตถุ 10 เหล่านี้อันสัตว์เหล่าใดส้องเสพ เจริญ ทำให้มากเพิ่มพูนขึ้นแล้ว
สัตว์เหล่านี้นั้นชื่อว่าผู้มีธุลีคือกิเลสในปัญญาจักษุมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :527 }