เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[602] ในคำว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง นั้น
รูปสัญญา เป็นไฉน
ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้ของโยคาวจรบุคคลผู้เข้ารูปาวจรสมาบัติ
ผู้อุบัติในรูปภูมิ หรือของพระอรหันต์ผู้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน เหล่านี้เรียกว่า รูปสัญญา
ภิกษุเป็นผู้ก้าวล่วงแล้ว ก้าวข้ามแล้ว ก้าวพ้นแล้วซึ่งรูปสัญญาเหล่านี้ เพราะ
ฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดยประการทั้งปวง
[603] ในคำว่า เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา นั้น ปฏิฆสัญญา
เป็นไฉน
รูปสัญญา สัททสัญญา คันธสัญญา รสสัญญา และโผฏฐัพพสัญญา
เหล่านี้เรียกว่า ปฏิฆสัญญา
ปฏิฆสัญญาเหล่านี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้
พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา
[604] ในคำว่า เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา นั้น นานัตตสัญญา
เป็นไฉน
ความจำได้ กิริยาที่จำได้ ภาวะที่จำได้ของบุคคลผู้มีความพรั่งพร้อมด้วย
มโนธาตุ หรือผู้มีความพรั่งพร้อมด้วยมโนวิญญาณธาตุซึ่งไม่ได้เข้าสมาบัติ เหล่านี้
เรียกว่า นานัตตสัญญา
ภิกษุไม่มนสิการนานัตตสัญญาเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะไม่
มนสิการนานัตตสัญญา
[605] ในคำว่า อากาศไม่มีที่สุด นั้น อากาศ เป็นไฉน
อากาศ ธรรมชาติที่นับว่าอากาศ ความว่างเปล่า ธรรมชาติที่นับว่าความ
ว่างเปล่า ช่องว่าง ธรรมชาติที่นับว่าช่องว่างซึ่งมหาภูตรูป 4 ถูกต้องไม่ได้ นี้เรียกว่า
อากาศ1

เชิงอรรถ :
1 อภิ.สงฺ. 34/724/206

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :410 }