เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
กาย เป็นไฉน
สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ นี้เรียกว่า กาย
ภิกษุเสวยสุขนี้ด้วยกายนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เสวยสุขด้วยนามกาย
[588] ในคำว่า ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญ นั้น พระอริยะ
ทั้งหลาย เป็นไฉน
พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระอริยะทั้งหลาย พระอริยะ
เหล่านั้น กล่าวสรรเสริญ แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ชัดเจน
ประกาศบุคคลผู้ได้บรรลุนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าว
สรรเสริญ
[589] ในคำว่า มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข นั้น อุเบกขา เป็นไฉน
อุเบกขา ความวางเฉย กิริยาที่เพ่งเฉย ความเป็นกลางแห่งจิต นี้เรียกว่า
อุเบกขา
สติ เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ นี้เรียกว่า สติ
สุข เป็นไฉน
ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข
อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้
เรียกว่า สุข
ภิกษุประกอบด้วยอุเบกขา สติและสุขนี้ สืบเนื่องกันอยู่ ดำเนินไปอยู่ รักษาอยู่
เป็นไปอยู่ ให้เป็นไปอยู่ เที่ยวไปอยู่ พักอยู่ ด้วยประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึง
เรียกว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
[590] คำว่า ตติยะ อธิบายว่า ชื่อว่าตติยะ โดยลำดับแห่งการนับ ชื่อว่า
ตติยะ เพราะโยคาวจรบุคคลเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ 3
[591] คำว่า ฌาน อธิบายว่า อุเบกขา สติ สัมปชัญญะ สุข และเอกัคคตา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :407 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[592] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง
การถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุตติยฌาน
[593] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่า อยู่
[594] คำว่า เพราะละสุขและทุกข์ได้ อธิบายว่า สุขและทุกข์นั้นแยก
เป็น สุขอย่างหนึ่ง ทุกข์อย่างหนึ่ง
ใน 2 อย่างนั้น สุข เป็นไฉน
ความสำราญทางกาย ความสุขทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข
อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่กายสัมผัส นี้
เรียกว่า สุข
ทุกข์ เป็นไฉน
ความไม่สำราญทางกาย ความทุกข์ทางกาย ความเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญ
เป็นทุกข์ อันเกิดแต่กายสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่ไม่สำราญเป็นทุกข์ อันเกิด
แต่กายสัมผัส นี้เรียกว่า ทุกข์
สุขและทุกข์นี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป
ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว ด้วย
ประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะละสุขและทุกข์ได้
[595] คำว่า เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว อธิบายว่า โสมนัส
และโทมนัสนั้นแยกเป็นโสมนัสอย่างหนึ่ง โทมนัสอย่างหนึ่ง
ใน 2 อย่างนั้น โสมนัส เป็นไฉน
ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข
อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้
เรียกว่า โสมนัส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :408 }