เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความยินดีอย่างยิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง
ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความตื่นเต้น ความที่จิตชื่นชมยินดี นี้เรียกว่า ปีติ
ปีตินี้เป็นอันสงบระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป ให้
พินาศย่อยยับไป ให้เหือดแห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว เพราะ
ฉะนั้นจึงเรียกว่า เพราะปีติจางคลายไป
[584] ในคำว่า มีอุเบกขา นั้น อุเบกขา เป็นไฉน
อุเบกขา ภาวะที่วางเฉย กิริยาที่เพ่งเฉย ความวางตนเป็นกลางแห่งจิต นี้
เรียกว่า อุเบกขา
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยอุเบกขานี้ เพราะฉะนั้นจึง
เรียกว่า มีอุเบกขา
[585] คำว่า อยู่ อธิบายว่า สืบเนื่องกันอยู่ ฯลฯ พักอยู่ เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่า อยู่
[586] ในคำว่า มีสติสัมปชัญญะ นั้น สติ เป็นไฉน
สติ ความตามระลึก ฯลฯ สัมมาสติ นี้เรียกว่า สติ
สัมปชัญญะ เป็นไฉน
ปัญญา กิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลงงมงาย ความเลือกเฟ้นธรรม
สัมมาทิฏฐิ นี้เรียกว่า สัมปชัญญะ
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยสตินี้และสัมปชัญญะนี้ ด้วย
ประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีสติสัมปชัญญะ
[587] ในคำว่า เสวยสุขด้วยนามกาย นั้น สุข เป็นไฉน
ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข
อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้
เรียกว่า สุข

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :406 }