เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[561] คำว่า ละนิวรณ์ 5 เหล่านี้ อธิบายว่า นิวรณ์ 5 นี้เป็นอันสงบ
ระงับ สงบเงียบ ดับไป ดับสิ้นไป ถูกทำให้พินาศไป ให้พินาศย่อยยับไป ให้เหือด
แห้งไป ให้เหือดแห้งไปด้วยดี ให้สิ้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ละนิวรณ์ 5
เหล่านี้
[562] คำว่า ที่เป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง อธิบายว่า นิวรณ์ 5 เหล่า
นี้เป็นเครื่องทำให้จิตเศร้าหมอง
[563] คำว่า ทอนกำลังปัญญา อธิบายว่า ปัญญาที่ยังไม่เกิดก็จะไม่เกิด
และปัญญาที่เกิดแล้วก็จะดับไป เพราะนิวรณ์ 5 เหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า
ทอนกำลังปัญญา
[564] ในคำว่า สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย นั้น กาม เป็นไฉน
ฉันทะชื่อว่ากาม ราคะชื่อว่ากาม ฉันทราคะชื่อว่ากาม สังกัปปะชื่อว่ากาม
ราคะชื่อว่ากาม สังกัปปราคะชื่อว่ากาม เหล่านี้เรียกว่า กาม
อกุศลธรรม เป็นไฉน
กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิจิกิจฉา เหล่านี้เรียกว่า
อกุศลธรรม
ภิกษุเป็นผู้สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายดังกล่าวมานี้ เพราะ
ฉะนั้นจึงเรียกว่า สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย
[565] คำว่า มีวิตกวิจาร อธิบายว่า วิตกวิจารนั้นแยกเป็นวิตกอย่างหนึ่ง
วิจารอย่างหนึ่ง
ใน 2 อย่างนั้น วิตก เป็นไฉน
ความตรึก ความตรึกโดยอาการต่าง ๆ ความดำริ ความที่จิตแนบแน่นใน
อารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ
นี้เรียกว่า วิตก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :402 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
วิจาร เป็นไฉน
ความตรอง ความพิจารณา ความตามพิจารณา ความเข้าไปพิจารณา
ความที่จิตสืบต่ออารมณ์ ความที่จิตเพ่งอารมณ์ นี้เรียกว่า วิจาร
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยวิตกวิจารนี้ดังที่กล่าวมานี้
เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า มีวิตกวิจาร
[566] คำว่า เกิดจากวิเวก อธิบายว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข และ
เอกัคคตา ธรรมเหล่านั้นเกิดแล้ว เกิดพร้อมแล้ว บังเกิดแล้ว บังเกิดเฉพาะแล้ว
ปรากฏแล้วในวิเวกนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เกิดจากวิเวก
[567] คำว่า ปีติและสุข อธิบายว่า ปีติและสุขนั้นแยกเป็นปีติอย่างหนึ่ง
สุขอย่างหนึ่ง
ใน 2 อย่างนั้น ปีติ เป็นไฉน
ความอิ่มเอิบ ความปราโมทย์ ความยินดีอย่างยิ่ง ความบันเทิง ความร่าเริง
ความรื่นเริง ความปลื้มใจ ความตื่นเต้น ความที่จิตชื่นชมยินดี นี้เรียกว่า ปีติ
สุข เป็นไฉน
ความสำราญทางใจ ความสุขทางใจ ความเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข
อันเกิดแต่เจโตสัมผัส กิริยาเสวยอารมณ์ที่สำราญเป็นสุข อันเกิดแต่เจโตสัมผัส นี้
เรียกว่า สุข
สุขนี้สหรคต เกิดพร้อม ระคน และประกอบด้วยปีตินี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียก
ว่า มีปีติและสุข
[568] คำว่า ปฐม อธิบายว่า ชื่อว่าปฐม โดยลำดับแห่งการนับ ชื่อว่า
ปฐม เพราะโยคาวจรบุคคลเข้าถึงฌานนี้เป็นที่ 1
[569] คำว่า ฌาน อธิบายว่า วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
[570] คำว่า บรรลุ อธิบายว่า การได้ การได้เฉพาะ การถึง การบรรลุถึง
ความถูกต้อง การทำให้แจ้ง การบรรลุปฐมฌาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :403 }