เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [13.อัปปมัญญาวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
[518] คำว่า รู้จักประมาณในการบริโภค อธิบายว่า ความเป็นผู้รู้จัก
ประมาณในการบริโภคก็มี ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภคก็มี
ใน 2 อย่างนั้น ความเป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ไม่พิจารณาโดยแยบคาย บริโภคอาหารเพื่อเล่น
เพื่อความมัวเมา เพื่อประเทืองผิว เพื่อความอ้วนพี ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ความ
เป็นผู้ไม่รู้จักประมาณ ความเป็นผู้ไม่พิจารณาในการบริโภคนั้น นี้เรียกว่า ความ
เป็นผู้ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค1
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค เป็นไฉน
ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายว่า เราบริโภคอาหารไม่ใช่เพื่อ
เล่น เพื่อความมัวเมา เพื่อประเทืองผิว และเพื่อความอ้วนพี แต่เพื่อกายนี้ดำรงอยู่
เพื่อให้ชีวิตินทรีย์เป็นไป เพื่อบำบัดความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ โดยอุบาย
นี้ เราจักกำจัดเวทนาเก่าเสียได้และจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความเป็นไปแห่ง
ชีวิตินทรีย์ ความไม่มีโทษ และการอยู่โดยผาสุกจักมีแก่เรา ดังนี้ แล้วจึงบริโภค
อาหาร ความสันโดษ ความเป็นผู้รู้จักประมาณ การพิจารณาในการบริโภคนั้น
นี้เรียกว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค1
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้รู้จักประมาณใน
การบริโภคนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค
[519] ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดปฐม-
ยามและปัจฉิมยาม เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วย
การเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุ
ความดี ด้วยการเดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จสีหไสยาสน์
โดยการนอนตะแคงข้างขวา เท้าซ้อนเท้า มีสติสัมปชัญญะ ตั้งใจว่าจะลุกขึ้นตลอด
มัชฌิมยามแห่งราตรี ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดีด้วยการ
เดินจงกรม ด้วยการนั่งตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้หมั่นประกอบ
ความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดปฐมยามและปัจฉิมยามด้วยประการฉะนี้

เชิงอรรถ :
1 อภิ.สงฺ. 34/1353/303, อภิ.วิ. 35/905/441

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :391 }