เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 เหล่านี้ที่เป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง ทอนกำลังปัญญา
สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว บรรลุทุติยฌานที่มี
ความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดย
ประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา
จึงได้บรรลุอากาสานัญจายตนะ โดยบริกรรมว่า "อากาศไม่มีที่สุด" ดังนี้อยู่ เพราะ
ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง จึงได้บรรลุวิญญาณัญจายตนะ
โดยบริกรรมว่า "วิญญาณไม่มีที่สุด" ดังนี้อยู่ เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้
โดยประการทั้งปวง จึงได้บรรลุอากิญจัญญายตนะโดยบริกรรมว่า "อะไร ๆ สักน้อย
หนึ่งก็ไม่มี" ดังนี้ เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง จึงได้
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่
มาติกา จบ

มาติกานิทเทส
[509] คำว่า ในธรรมวินัยนี้ อธิบายว่า ในความเห็นนี้ ในความพอใจนี้
ในความชอบใจนี้ ในลัทธินี้ ในธรรมนี้ ในวินัยนี้ ในธรรมวินัยนี้ ในปาพจน์นี้
ในพรหมจรรย์นี้ และในคำสอนของพระศาสดานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ในธรรม-
วินัยนี้1
[510] คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะสมัญญา ชื่อว่าภิกษุ
เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่าภิกษุ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ป. 31/164/187, 10/419

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :386 }