เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12. ฌานวิภังค์] 1. สุตตันตภาชนีย์
12. ฌานวิภังค์
1. สุตตันตภาชนีย์
มาติกา
[508] ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้สำรวมด้วยปาติโมกขสังวรอยู่ ถึงพร้อมด้วย
อาจาระและโคจร เห็นภัยในโทษที่มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย
คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในการบริโภค หมั่นประกอบความ
เพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่ตลอดปฐมยามและปัจฉิมยาม หมั่นประกอบความเพียรใน
การเจริญโพธิปักขิยธรรมอย่างต่อเนื่อง มีปัญญาเป็นอุบายในกิจทั้งปวง
ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ 1 ทำความรู้สึกตัวในการ
แลดู การเหลียวดู 1 ทำความรู้สึกตัวในการคู้เข้า การเหยียดออก 1 ทำความรู้สึก
ตัวในการครองผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร 1 ทำความรู้สึกตัวในการฉัน การดื่ม
การเคี้ยว การลิ้ม 1 ทำความรู้สึกตัวในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ 1 ทำความรู้สึกตัว
ในการเดิน การยืน การนั่ง การนอน การตื่น การพูด และการนิ่ง 1
ภิกษุนั้นอาศัยเสนาสนะที่สงัด เช่น ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ดง
ที่แจ้ง กองฟาง ที่สงัดมีเสียงน้อย มีเสียงอึกทึกน้อย ไม่มีคนสัญจรไปมา ไม่มี
คนพลุกพล่าน เหมาะเป็นที่หลีกเร้น ภิกษุนั้นอยู่ป่า อยู่โคนไม้ หรืออยู่เรือนว่าง
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่นมุ่งเฉพาะกรรมฐาน
ภิกษุนั้นละอภิชฌาในโลกได้ มีจิตปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จาก
อภิชฌา ละความพยาบาทและความคิดประทุษร้ายได้แล้ว มีจิตไม่พยาบาทอยู่ เป็น
ผู้อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งมวล ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความพยาบาทและความ
คิดประทุษร้าย ละถีนมิทธะได้แล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะอยู่ เป็นผู้ได้อาโลก-
สัญญา มีสติสัมปชัญญะ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะได้แล้ว
เป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่านอยู่ มีจิตสงบภายในตน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะ ละ
วิจิกิจฉาได้แล้ว เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีความสงสัยในกุศลธรรมอยู่ ชำระ
จิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา1

เชิงอรรถ :
1 ที.สี. 9/214-217/71-72

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :385 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [12.ฌานวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์
ภิกษุนั้นละนิวรณ์ 5 เหล่านี้ที่เป็นเหตุทำให้จิตเศร้าหมอง ทอนกำลังปัญญา
สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติ
และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว บรรลุทุติยฌานที่มี
ความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติ
และสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
เพราะปีติจางคลายไป ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะ
ละสุขและทุกข์ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาได้โดย
ประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่มนสิการนานัตตสัญญา
จึงได้บรรลุอากาสานัญจายตนะ โดยบริกรรมว่า "อากาศไม่มีที่สุด" ดังนี้อยู่ เพราะ
ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนะได้โดยประการทั้งปวง จึงได้บรรลุวิญญาณัญจายตนะ
โดยบริกรรมว่า "วิญญาณไม่มีที่สุด" ดังนี้อยู่ เพราะก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนะได้
โดยประการทั้งปวง จึงได้บรรลุอากิญจัญญายตนะโดยบริกรรมว่า "อะไร ๆ สักน้อย
หนึ่งก็ไม่มี" ดังนี้ เพราะก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะได้โดยประการทั้งปวง จึงได้
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะอยู่
มาติกา จบ

มาติกานิทเทส
[509] คำว่า ในธรรมวินัยนี้ อธิบายว่า ในความเห็นนี้ ในความพอใจนี้
ในความชอบใจนี้ ในลัทธินี้ ในธรรมนี้ ในวินัยนี้ ในธรรมวินัยนี้ ในปาพจน์นี้
ในพรหมจรรย์นี้ และในคำสอนของพระศาสดานี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ในธรรม-
วินัยนี้1
[510] คำว่า ภิกษุ อธิบายว่า ชื่อว่าภิกษุ เพราะสมัญญา ชื่อว่าภิกษุ
เพราะการปฏิญญาตน ชื่อว่าภิกษุ เพราะขอ ชื่อว่าภิกษุ เพราะเป็นผู้ขอ ชื่อว่าภิกษุ

เชิงอรรถ :
1 ขุ.ป. 31/164/187, 10/419

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :386 }