เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [9. อิทธิปาทวิภังค์] 1. สุตตันตภาชนีย์ 1. ฉันทิทธิบาท
[433] บรรดาธรรมเหล่านั้น ฉันทะ เป็นไฉน
ความพอใจ การทำความพอใจ ความเป็นผู้ประสงค์จะทำ ความฉลาด ความ
พอใจในธรรม นี้เรียกว่า ฉันทะ
สมาธิ เป็นไฉน
ความตั้งอยู่ ความดำรงอยู่ ความตั้งมั่น ความไม่ส่ายไป ความไม่ฟุ้งซ่าน
แห่งจิต ภาวะที่จิตไม่ซัดส่าย สมถะ สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ นี้เรียกว่า
สมาธิ
ปธานสังขาร เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความขวนขวาย
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความ
มุ่งมั่นอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความเอาใจใส่
ธุระ วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ นี้เรียกว่า ปธานสังขาร
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึงแล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงแล้วด้วยดี
เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้วด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขารนี้ ด้วย
ประการฉะนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า ประกอบด้วยฉันทสมาธิปธานสังขาร
[434] คำว่า อิทธิ มีอธิบายว่า ความสำเร็จ ความสำเร็จด้วยดี กิริยาที่
สำเร็จ กิริยาที่สำเร็จด้วยดี ความได้ ความได้เฉพาะ ความถึง ความถึงด้วยดี
ความถูกต้อง การทำให้แจ้ง ความเข้าถึงธรรมเหล่านั้น
คำว่า อิทธิบาท มีอธิบายว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ
วิญญาณขันธ์ของบุคคลผู้เป็นอย่างนั้น1
คำว่า เจริญอิทธิบาท มีอธิบายว่า ภิกษุเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งธรรม
เหล่านั้น เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เจริญอิทธิบาท

เชิงอรรถ :
1 อรรถกถาอธิบายว่า ผู้เป็นโดยอาการนั้น คือผู้ได้ธรรมที่มีฉันทะเป็นต้น (อภิ.วิ.อ. 433/326)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :343 }