เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [8.สัมมัปปธานวิภังค์] 2.อภิธรรมภาชนีย์
2. อภิธรรมภาชนีย์
[408] สัมมัปปธาน 4 ได้แก่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันสภาวธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิด
2. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อเพื่อละสภาวธรรมที่เป็นบาปอกุศลธรรมซึ่งเกิดแล้ว
3. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อเพื่อทำสภาวธรรมที่เป็นกุศลซึ่งยังไม่เกิดให้เกิด
4. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อเพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญ
เต็มที่แห่งสภาวธรรมที่เป็นกุศลซึ่งเกิดแล้ว

เพียรป้องกันสภาวธรรมที่เป็นบาปอกุศล
ซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิด
[409] ภิกษุสร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันสภาวธรรมที่เป็นบาปอกุศลซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิด เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้เจริญฌานที่เป็นโลกุตตระซึ่งเป็นเหตุนำออกจากวัฏฏทุกข์ให้
ถึงนิพพาน เพื่อละทิฏฐิ เพื่อบรรลุภูมิเบื้องต้น สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน
ที่เป็นทุกขาปฏิปทาทันธาภิญญา อยู่ในสมัยใด ในสมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าสร้างฉันทะ
พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อป้องกันสภาวธรรมที่เป็น
บาปอกุศลซึ่งยังไม่เกิดมิให้เกิด
[410] ในคำว่า สร้างฉันทะ นั้น ฉันทะ เป็นไฉน
ความพอใจ การทำความพอใจ ความเป็นผู้ประสงค์จะทำ ความฉลาด ความ
พอใจในธรรม นี้เรียกว่า ฉันทะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :333 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [8.สัมมัปปธานวิภังค์] 2.อภิธรรมภาชนีย์
ภิกษุทำฉันทะนี้ให้เกิด ให้เกิดด้วยดี ให้ตั้งขึ้น ให้ตั้งขึ้นด้วยดี ให้บังเกิด
ให้บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า สร้างฉันทะ
[411] ในคำว่า พยายาม นั้น ความพยายาม เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ความขะมักเขม้น ความบากบั่น ความขวนขวาย
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความทนทาน ความเข้มแข็ง ความหมั่น ความ
มุ่งมั่นอย่างไม่ท้อถอย ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ ความเอาใจใส่
ธุระด้วยดี วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ วิริยสัมโพชฌงค์ อันเป็น
องค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า ความพยายาม
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึงแล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงแล้วด้วยดี
เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้วด้วยความพยายามนี้ เพราะฉะนั้นจึง
เรียกว่า พยายาม
[412] ในคำว่า ปรารภความเพียร นั้น ความเพียร เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ วิริยสัมโพชฌงค์ อันเป็น
องค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า ความเพียร
ภิกษุปรารภ ปรารภด้วยดี เสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งความเพียรนี้ เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่า ปรารภความเพียร
[413] ในคำว่า ประคองจิต นั้น จิต เป็นไฉน
จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่เหมาะสมกัน นี้เรียกว่า จิต
ภิกษุประคอง ประคองด้วยดี อุปถัมภ์ค้ำชูจิตนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า
ประคองจิต
[414] ในคำว่า มุ่งมั่น นั้น สัมมัปปธาน (ความมุ่งมั่นโดยชอบ) เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ วิริยสัมโพชฌงค์ อัน
เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า สัมมัปปธาน สภาวธรรมที่เหลือชื่อว่า
สัมปยุตด้วยสัมมัปปธาน


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :334 }