เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [8. สัมมัปปธานวิภังค์] 1. สุตตันตภาชนีย์
8. สัมมัปปธานวิภังค์
1. สุตตันตภาชนีย์
[390] สัมมัปปธาน 41 ได้แก่ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด
2. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดแล้ว
3. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิด
4. สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อความดำรงอยู่ ไม่เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญ
เต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดแล้ว

เพียรป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด
[391] ภิกษุสร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่น
เพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด เป็นอย่างไร
บรรดาธรรมเหล่านั้น บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เป็นไฉน
อกุศลมูล 3 คือ โลภะ โทสะ โมหะ และกิเลสที่ตั้งอยู่ในฐานเดียวกับอกุศลมูล
นั้น ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ที่สัมปยุตด้วย
อกุศลมูลนั้น และกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมที่มีอกุศลมูลนั้นเป็นสมุฏฐาน
ธรรมเหล่านี้เรียกว่า บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด
ภิกษุสร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อป้องกัน
บาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดด้วยประการฉะนี้

เชิงอรรถ :
1 อภิ.สงฺ. 34/1377/306

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :328 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [8. สัมมัปปธานวิภังค์] 1. สุตตันตภาชนีย์
[392] ในคำว่า สร้างฉันทะ นั้น ฉันทะ เป็นไฉน
ความพอใจ การทำความพอใจ ความเป็นผู้ประสงค์จะทำ ความฉลาด
ความพอใจในธรรม นี้เรียกว่า ฉันทะ
ภิกษุทำฉันทะนี้ให้เกิด ให้เกิดด้วยดี ให้ตั้งขึ้น ให้ตั้งขึ้นด้วยดี ให้บังเกิด ให้
บังเกิดเฉพาะ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า สร้างฉันทะ
[393] ในคำว่า พยายาม นั้น ความพยายาม เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ นี้เรียกว่า ความพยายาม
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว เข้าไปถึงแล้วด้วยดี เข้ามาถึงแล้ว เข้ามาถึงแล้วด้วยดี
เข้าถึงแล้ว เข้าถึงแล้วด้วยดี ประกอบแล้วด้วยความพยายามนี้ เพราะฉะนั้นจึง
เรียกว่า พยายาม
[394] ในคำว่า ปรารภความเพียร นั้น ความเพียร เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ นี้เรียกว่า ความเพียร
ภิกษุปรารภ ปรารภด้วยดี เสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งความเพียรนี้ เพราะ
ฉะนั้นจึงเรียกว่า ปรารภความเพียร
[395] ในคำว่า ประคองจิต นั้น จิต เป็นไฉน
จิต มโน มานัส ฯลฯ มโนวิญญาณธาตุที่เหมาะสมกัน นี้เรียกว่า จิต
ภิกษุประคอง ประคองด้วยดี อุปถัมภ์ค้ำชูจิตนี้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า
ประคองจิต
[396] ในคำว่า มุ่งมั่น นั้น ความมุ่งมั่น1 เป็นไฉน
การปรารภความเพียรทางใจ ฯลฯ สัมมาวายามะ นี้เรียกว่า ความมุ่งมั่น
ภิกษุเป็นผู้เข้าไปถึงแล้ว ฯลฯ ประกอบแล้วด้วยความมุ่งมั่นนี้ เพราะฉะนั้น
จึงเรียกว่า มุ่งมั่น

เชิงอรรถ :
1 อรรถกถาขยายเป็น สาตัจจกิริยา หมายถึงการกระทำอย่างต่อเนื่อง (อภิ.วิ.อ. 390/310)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :329 }