เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [1.ขันธวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์ 1.รูปขันธ์
[3] ในรูปขันธ์นั้น รูปที่เป็นอดีต เป็นไฉน
รูปใดล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว ปราศจากไปแล้ว แปรไปแล้ว ถึงความดับแล้ว
ถึงความดับสิ้นแล้ว ที่เกิดขึ้นปราศจากไปแล้ว ที่เป็นอดีต สงเคราะห์เข้ากับส่วนอดีต
ได้แก่ มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 (อุปาทายรูป) นี้เรียกว่า รูปที่
เป็นอดีต
รูปที่เป็นอนาคต เป็นไฉน
รูปใดยังไม่เกิด ยังไม่เป็น ยังไม่เกิดพร้อม ยังไม่บังเกิด ยังไม่บังเกิดเฉพาะ
ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่เกิดขึ้นพร้อม ยังไม่ตั้งขึ้น ยังไม่ตั้งขึ้นพร้อม ที่
เป็นอนาคต สงเคราะห์เข้ากับส่วนอนาคต ได้แก่ มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัย
มหาภูตรูป 4 นี้เรียกว่า รูปที่เป็นอนาคต
รูปที่เป็นปัจจุบัน เป็นไฉน
รูปใดเกิดอยู่ เป็นอยู่ เกิดพร้อม บังเกิด บังเกิดเฉพาะ ปรากฏ เกิดขึ้น
เกิดขึ้นพร้อม ตั้งขึ้น ตั้งขึ้นพร้อม ที่เป็นปัจจุบัน สงเคราะห์เข้ากับส่วนปัจจุบัน
ได้แก่ มหาภูตรูป 4 และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 นี้เรียกว่า รูปที่เป็นปัจจุบัน
[4] รูปที่เป็นภายในตน เป็นไฉน
รูปใดของสัตว์นั้น ๆ ที่เป็นภายในตน มีเฉพาะตน เกิดในตน มีเฉพาะ
บุคคล ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ1 ได้แก่ มหาภูตรูป 4 และ
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 นี้เรียกว่า รูปที่เป็นภายในตน
รูปที่เป็นภายนอกตน เป็นไฉน
รูปใดของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นนั้น ๆ ที่เป็นภายในตน มีเฉพาะตน เกิดในตน
มีเฉพาะบุคคล ที่กรรมอันประกอบด้วยตัณหาและทิฏฐิยึดถือ ได้แก่ มหาภูตรูป 4
และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป 4 นี้เรียกว่า รูปที่เป็นภายนอกตน
[5] รูปหยาบ เป็นไฉน
จักขายตนะ ฯลฯ โผฏฐัพพายตนะ นี้เรียกว่า รูปหยาบ

เชิงอรรถ :
1 ตัณหาและทิฏฐิที่เกิดพร้อมกับการกระทำที่ยึดติดโดยความเป็นอารมณ์ (อภิ.สงฺ.อ. 4/90)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :2 }