เมนู

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [4.สัจจวิภังค์] 1.สุตตันตภาชนีย์ 4.มัคคสัจ
สัมมาวาจา เป็นไฉน
เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเท็จ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดคำหยาบ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
นี้เรียกว่า สัมมาวาจา (3)
สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน
เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการลักทรัพย์
เจตนาเป็นเหตุงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ (4)
สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน
ข้อที่พระอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วย
สัมมาอาชีวะ นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ (5)
สัมมาวายามะ เป็นไฉน
ข้อที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต
มุ่งมั่นเพื่อป้องกันบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น ฯลฯ เพื่อละบาปอกุศล-
ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ฯลฯ เพื่อทำบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นมิให้เกิดขึ้น ฯลฯ
สร้างฉันทะ พยายาม ปรารภความเพียร ประคองจิต มุ่งมั่นเพื่อความดำรงอยู่ไม่
เลือนหาย ภิยโยภาพ ไพบูลย์ เจริญเต็มที่แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว นี้เรียกว่า
สัมมาวายามะ (6)
สัมมาสติ เป็นไฉน
ข้อที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พิจารณา
เห็นกายในกายอยู่ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนา
ในเวทนาอยู่ ฯลฯ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ นี้เรียกว่า
สัมมาสติ (7)
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
ข้อที่ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไปแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :172 }


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ [4.สัจจวิภังค์] 2.อภิธรรมภาชนีย์ อัฏฐังคิกวาร
บรรลุทุติยฌานที่มีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร
มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีจิตเป็นอุเบกขา มีสติ มี
สัมปชัญญะอยู่และเสวยสุขด้วยกาย (นามกาย) บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย
กล่าวสรรเสริญว่า ผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะ
โสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์
เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ1 (8)
นี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
สุตตันตภาชนีย์ จบ

2. อภิธรรมภาชนีย์
อัฏฐังคิกวาร
[206] สัจจะ 4 คือ

1. ทุกข์ (ทุกข์)
2. ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์)
3. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์)
4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)

บรรดาสัจจะ 4 นั้น ทุกขสมุทัย เป็นไฉน
ตัณหา นี้เรียกว่า ทุกขสมุทัย
ทุกข์ เป็นไฉน
กิเลสที่เหลือ สภาวธรรมที่เป็นอกุศลที่เหลือ กุศลมูล 3 ที่เป็นอารมณ์ของ
อาสวะ สภาวธรรมที่เป็นกุศลที่เหลือซึ่งเป็นอารมณ์ของอาสวะ วิบากแห่งสภาว-
ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลซึ่งเป็นอารมณ์ของอาสวะ สภาวธรรมที่เป็นกิริยา ไม่เป็น
กุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่เป็นวิบากแห่งกรรม และรูปทั้งหมด นี้เรียกว่า ทุกข์2

เชิงอรรถ :
1 ม.อุ. 14/375/319, ขุ.ป. 31/36/42, อภิ.วิ. 35/487/282
2 ในอภิธรรมภาชนีย์ท่านยกทุกขสมุทัยขึ้นอธิบายก่อน (อภิ.วิ.อ. 206-214/130-131)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 35 หน้า :173 }